บทคัดย่องานวิจัย

ผลของความชื้นสัมพัทธ์ที่มีต่อการหลุดร่วงของกล้วยไข่

จีรนุช แสงปุก และสายชล เกตุษา

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 36 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของความชื้นสัมพัทธ์ที่มีต่อการหลุดร่วงของกล้วยไข่

การศึกษาผลของความชื้นสัมพัทธ์ที่มีต่อการหลุดร่วงของกล้วยไข่ระหว่างการสุก โดยทำการเก็บรักษากล้วยไข่ระหว่างการสุกนี้ที่อุณหภูมิ 25 °C ภายใต้สภาพความชื้นสัมพัทธ์สูง (90-95 %RH) เป็นเวลา 9 วัน พบว่า กล้วยไข่ภายใต้สภาพความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิดการหลุดร่วงมากขึ้นเป็นผลสุกมากขึ้น ในขณะที่กล้วยไข่ภายใต้สภาพความชื้นสัมพัทธ์ต่ำไม่พบการหลุดร่วง กล้วยไข่ที่เกิดการหลุดร่วงมีปริมาณของน้ำในเปลือกสูงกว่ากล้วยไข่ที่ไม่หลุดร่วง ในขณะที่มีการสูญเสียน้ำหนักของหวี, ความแน่นเนื้อของเปลือกและแรงต้านทานการหลุดร่วงต่ำกว่ากล้วยไข่ที่ไม่เกิดการหลุดร่วง เมื่อผลกล้วยไข่สุกมากขึ้นกิจกรรมของเอนไซม์ pectin methylesterase (PME), polygalacturonase (PG) และปริมาณเพกตินที่ละลายน้ำได้ (water soluble pectin, WSP) ในเปลือกเพิ่มสูงขึ้นจนถึงประมาณวันที่ 5 ของการทดลองหลังจากนั้นจึงลดต่ำลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมเอนไซม์ PME, PG และปริมาณ WSP สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณเพกตินที่ละลายใน CDTA (CDTA soluble pectin) และ sodium carbonate (sodium carbonate soluble pectin) โดยเปลือกกล้วยไข่บริเวณโคนผลที่เกิดการหลุดร่วงมาก มีกิจกรรมของเอนไซม์ PME และ PG และปริมาณ WSP สูงกว่าเปลือกบริเวณกลางผลและโคนผลที่ไม่เกิดการหลุดร่วง ดังนั้นกิจกรรมของเอนไซม์ PME และ PG น่าจะมีบทบาทต่อการหลุดร่วงของกล้วยไข่สุก