บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงของพริกเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

กฤษณา บุญศิริ และสายชล เกตุษา

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 25 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงของพริกเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ  การเก็บรักษาพริกขี้หนูและพริกหยวก ที่อุณหภูมิ 5 และ 10 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90%) พบว่าพริกทั้งสองชนิดเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสแสดงอาการสะท้านหนาว (chilling injury) โดยมีการเปลี่ยนสีของเมล็ดจากสีขาวนวลเป็นสีน้ำตาล และมีการรั่วไหลของประจุเพิ่มขึ้น การรั่วไหลของประจุมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเกิดสีน้ำตาลของเมล็ด ขณะที่การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสไม่ปรากฏความเสียหายที่เมล็ดพริก ส่วนในเนื้อเยื่อบริเวณไส้ที่ติดกับเมล็ดของพริกหยวกระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าส่วนของเมล็ดและมีการเปลี่ยนแปลงของการรั่วของประจุน้อยกว่าส่วนของเมล็ด สำหรับพริกขี้หนูพบว่าพริกขี้หนูที่อายุน้อยแสดงอาการสะท้านหนาวรุนแรงกว่าพริกขี้หนูอายุมาก การเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงโดยใช้ฟิล์ม PVC พบว่าสามารถลดอาการสะท้านหนาวในพริกขี้หนูได้ แต่ไม่สามารถลดอาการสะท้านหนาวในพริกหยวกได้ และการใช้อุณหภูมิสูง 35 องศาเซลเซียส นาน 20 นาที มีแนวโน้มที่สามารถจะลดอาการสะท้านหนาวของพริกขี้หนูได้