บทคัดย่องานวิจัย

อายุการใช้งานและสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวบางประการของปทุมมาตัดดอกบางสายพันธุ์

อุษาวดี ชนสุต และเรืองวิทย์ พ่อเรือน

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 14 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

อายุการใช้งานและสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวบางประการของปทุมมาตัดดอกบางสายพันธุ์ จากการศึกษาอายุการใช้งานและลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวบางประการของปทุมมา (Curcuma alismatifolia) ตัดดอกจำนวน 7 สายพันธุ์ที่ผลิตได้จากสวนปทุมมาของกลุ่มผู้ปลูกปทุมมาอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาดอกปทุมมาเป็นไม้ตัดดอกสด พบว่า อายุการใช้งานของดอกปทุมมาขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่มีช่อดอกสีชมพู คือ ปทุมมาสายพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู (Chiang Mai Pink) สีชมพูอ่อน (Queen Pink) และสีแดง (Chiang Mai Red) มีอายุการใช้งานนานกว่าสายพันธุ์ที่มีดอกสีขาวคือ ปทุมมาสายพันธุ์ขาวเชียงราย (Chiang Rai White) และสโนไวท์ (Snow White) กล่าวคือสายพันธุ์ดอกสีชมพูมีอายุการปักแจกันได้นานกว่า 10 วันและสายพันธุ์ดอกสีขาวมีอายุปักแจกันประมาณ 1 สัปดาห์ แต่เมื่อดูการเสื่อมสภาพของช่อดอกโดยรวมทั้งสองกลุ่มจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ สีของใบประดับส่วนที่เป็น comma bracts จะเริ่มซีดจางลง ใบประดับสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านช่อดอกกลับแบน ช่อดอกพับงอเนื่องจากก้านช่อดอกรับน้ำหนักช่อดอกไม่ได้และทำให้หมดอายุการใช้งาน ยกเว้นสายพันธุ์ยู่ยี่ (Yu-Yee) ที่ก้านดอกจะลีบแบนและคอดอกพับ ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการเสื่อมสภาพ และปทุมรัตน์ (Patumrat) ซึ่งจะหมดอายุการใช้งานเนื่องจากช่อดอกเน่าและไม่แสดงอาการก้านลีบตลอดการศึกษา การใช้สารละลายที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบเป็นสารปักแจกัน หรือการใช้สารยับยั้งการทำงานของเอทิลีนไม่สามารถยืดอายุการใช้งานของดอกปทุมมาได้