บทคัดย่องานวิจัย

ดัชนีการเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว และการยืดอายุการเก็บรักษาผลส้มโอพันธุ์หอมหาดใหญ่

คมศักดิ์ สุวรรณโณ ซัลมา ยีกะจี และสุรินทร์ ยี่สุ่นทรง

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. 4-7 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา. เลขหน้า 166 (196 หน้า)

2547

บทคัดย่อ

ดัชนีการเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว และการยืดอายุการเก็บรักษาผลส้มโอพันธุ์หอมหาดใหญ่  การศึกษาดัชนีการเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว และยืดอายุการเก็บรักษาผลส้มโอพันธุ์หอมหาดใหญ่ โดยใช้ผลส้มโอจากแปลงของเกษตรกรมาศึกษาลักษณะทางกายภาพและทางเคมี ณ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 2546 แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 การทดลอง การทดลองที่หนึ่งทำการเก็บเกี่ยวผลส้มโอทุกๆ 7 วัน ตั้งแต่อายุ 167-209 วัน หลังวันดอกบาน มาทำการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและเคมี พบว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยว คือผลที่มีอายุ 195 วันหลังดอกลาน โดยเปลือกมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อมีสีชมพูเข้มและมีความแน่นเนื้อเฉลี่ย 242.03 นิวตัน ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (SS) เฉลี่ย 9.3° brix ปริมาณกรดที่ไทเตรดได้ (TA) เฉลี่ย 0.55 เปอร์เซ็นต์ และอัตราส่วนระหว่าง SS:TA เฉลี่ย 16.84 การทดลองที่สองทำการเก็บเกี่ยวผลส้มโอที่มีอายุ 5.5, 6, 6.5 และ 7 เดือนหลังดอกบาน นำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง แล้วตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและเคมีทุกๆ 5 วัน เป็นเวลา 30 วัน พบว่า การเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องทำให้ สีเปลือก ความแน่นเนื้อ และการสูญเสียน้ำหนักของผลด้อยลงตามอายุการเก็บรักษา ผลส้มโอที่มีอายุ 6.5 และ 7 เดือนมีค่า SS, TA และอัตราส่วนระหว่าง SS:TA เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยหลังการเก็บรักษา แต่ผลส้มโอที่มีอายุ 5.5 และ 6 เดือนมีค่า TA ลดลงมากจึงทำให้อัตราส่วนระหว่าง SS:TA เพิ่มขึ้นมากกว่า การทดลองที่สามทำการศึกษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาโดยการเก็บรักษาผลส้มโอที่อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิ 20°C ทำการห่อหุ้มผลโดยการเคลือบแว็ก หุ้ม PVC และผลปกติ พบว่าผลที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20°C และหุ้มด้วย PVC แล้วสามารถเก็บรักษาได้นาน 60 วัน โดยคุณภาพทางกายภาพและเคมีเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย มีการสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของผู้ทดสอบการชิม