บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพและการเปลี่ยนแปลงของลองกองระหว่างการเก็บรักษาภายใต้สภาพการดัดแปลงบรรยากาศ

นันทพร สุขกระจ่าง มุทิตา มีนุ่น และสุกัญญา จันทะชุม

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. 4-7 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา. เลขหน้า 161 (196 หน้า)

2547

บทคัดย่อ

คุณภาพและการเปลี่ยนแปลงของลองกองระหว่างการเก็บรักษาภายใต้สภาพการดัดแปลงบรรยากาศ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านเคมีและกายภาพของลองกองในลักษณะช่อผลหลังการเก็บเกี่ยวเมื่อลองกองมีอายุ 13 สัปดาห์หลังดอกบาน โดยบรรจุช่อลองกองในถุงพลาสติกภายใต้สภาวะการดัดแปลงบรรยากาศแล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 °ซ พบว่าช่อลองกองที่บรรจุถุงพลาสติกภายใต้สภาวะการดัดแปลงบรรยากาศการควบคู่กับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ ที่มีอัตราส่วนระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อก๊าซออกซิเจน (CO2:O2) เท่ากับร้อยละ 5:5 จะมีผลยืดอายุการเก็บรักษาได้นานที่สุด (ประมาณ 18 วัน) โดยที่ค่า L และค่า b (จากการวิเคราะห์โดย Hunter Lab) ในส่วนผิวเปลือกจะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปเท่ากับร้อยละ 41.19 และ 40.31 ตามลำดับ เทียบกับช่อลองกองสดเริ่มต้น ขณะที่ช่อลองกองที่บรรจุในถุงพลาสติกภายใต้สภาวะปกติที่มีการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ (18°) ที่มีอายุเก็บนาน 15 วัน มีค่า L และค่า b ในส่วนผิวเปลือกจะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปเท่ากับร้อยละ 51.64 และ 49.85 ตามลำดับเทียบกับช่อลองกองสดเริ่มต้น อย่างไรก็ตามพบว่าการจุ่มช่อผลลองกองในสารละลายกรดซิตริกเข้มข้นร้อยละ 1.5 นาน 5 นาที จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ช่อผลลองกองได้นานขึ้น จากการทดลองพบว่าช่อลองกองที่มีอายุการเก็บรักษานาน 27 วันที่ผ่านการจุ่มในสารละลายกรดซิตริกและบรรจุในถุงพลาสติกภายใต้สภาวะการดัดแปลงบรรยากาศที่มีอัตราส่วนระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อก๊าซออกซิเจน (CO2:O2) เท่ากับร้อยละ 5:5 และเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ (18°) จะมีค่า L และค่า b ในส่วนผิวเปลือกเปลี่ยนแปลงไปต่ำโดยเท่ากับร้อยละ 30.62 และ 36.69 ตามลำดับเทียบกับช่อลองกองสดเริ่มต้น