บทคัดย่องานวิจัย

การใช้แคลเซียมคลอไรด์หลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของแคนตาลูปพร้อมบริโภค

เฉลิมชัย วงษ์อารี ผ่องเพ็ญ จิตรอารีย์รัตน์ และ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. 4-7 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา. เลขหน้า 93 (196 หน้า)

2547

บทคัดย่อ

การใช้แคลเซียมคลอไรด์หลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของแคนตาลูปพร้อมบริโภค แคนตาลูปเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมรับประทานและนำมาแปรรูปให้อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภคกันมาก แต่แคนตาลูปหลายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังการสุกและการตัดแต่งโดยเฉพาะการอ่อนนุ่มของเนื้อสัมผัส การใช้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์กับแคนตาลูปหลังการเก็บเกี่ยวจึงเป็นแนวคิดเพื่อคงความแน่นเนื้อและคุณภาพของแคนตาลูปพร้อมบริโภค โดยให้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้นร้อยละ 2 กับแคนตาลูปซันเลดี้ (Cucumis melo L. var Inodorus Naud.) ที่บ่มสุก 2 วิธี คือแบบใช้ความดันบรรยากาศ 460 มิลลิเมตรของปรอท (partial vacuum infiltration) เป็นเวลา 2 นาที กับแคนตาลูปทั้งผลก่อนปอกเปลือกและตัดแต่ง และแบบแช่ชิ้นแคนตาลูปหลังการตัดแต่งในสารละลาย (dipping) เป็นเวลา 2 นาที จัดเรียงชิ้นแคนตาลูปบนถาดโพมขนาด 4” x 6” แล้วหุ้มด้วยพลาสติกบางโพลีเอทีลีน (Linear low-density polyethylene, LLDPE) จากนั้นนำมาเก็บรักษาที่ตู้แช่ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 วัน พบว่า สีผิว น้ำหนักสด การสะสมของก๊าซเอทิลีนและคาร์บอนไดออกไซด์ในภาชนะบรรจุไม่มีความแตกต่างกันระหว่างวิธีการทดลอง แต่ชิ้นแคนตาลูปที่ได้รับสารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีปริมาณธาตุแคลเซียมเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มและคงความแน่นเนื้อของชิ้นแคนตาลูปอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งสัมพันธ์กับค่าสารเพคตินที่ละลายน้ำได้ (water-soluble pectin) ที่ต่ำกว่าชุดควบคุม แต่การให้สารแบบใช้ความดันสูงทำให้เนื้อส่วนในของชิ้นแคนตาลูปมีปริมาณแคลเซียมมากกว่าการแช่ และวิธีการแช่ทำให้น้ำแคนตาลูปมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย อย่างไรก็ตามชิ้นแคนตาลูปที่แช่สารละลายแคลเซียมคลอไรด์และแบบใช้ความดันพาเข้ามีค่าการเจริญของเชื้อ (total plate count) ในวันที่ 5 ของการเก็บรักษาเป็น 5,500 และ 7,600 CFU/ml ในขณะที่ชิ้นแคนตาลูปชุดควบคุมที่แช่น้ำกลั่นและใช้ความดัน มีการเจริญของเชื้อเป็น 8,300 และ 10,500 CFU/ml ตามลำดับ