บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเอทิฟอน 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีน เมทิลจัสโมเนท และกรดซาลิไซลิกต่อการเหลืองของคะน้า

ภัทษร สำเนียงดี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ผลของเอทิฟอน 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีน เมทิลจัสโมเนท และกรดซาลิไซลิกต่อการเหลืองของคะน้า

การวิจัยผลของเอทิฟอน 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีน (6-BAP) เมทิลจัสโมเนท (MeJA) และกรดซาลิไซลิก (SA) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมีของชิ้นใบคะน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของเอทิฟอน 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีน (6-BAP) เมทิลแจสโมเนท (MeJA) และกรดซาลิไซลิก (SA)ต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวเคมี รวมถึงกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องต่อการสลายตัวของคลอโรฟิลด์ในชิ้นใบคะน้า โดยศึกษาผลของ 6-BAP ความเข้มข้นที่ 0 (ชุดควบคุม) 10 50 และ 100 พีพีเอ็ม และเอทิฟอนความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม (ชุดควบคุมโพซิทีฟ) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมีในส่วนตัดกลมของใบคะน้า โดยนำใบคะน้าที่ตัดเป็นวงกลมมาจุ่มในสารข้างต้น เป็นเวลา 10 นาที แล้วเก็บรักษาในที่มืดอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ชิ้นใบคะน้าที่ได้รับ 6-BAP ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองได้ สอดคล้องกับการชะลอการสลายตัวของปริมาณคลอโรฟิลล์เอ  บี และลดอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับชุดทดลองอื่น ส่วนการศึกษาผลของ MeJA ความเข้มข้นที่ 0 (ชุดควบคุม) 2.24 22.4 และ 224 พีพีเอ็ม และ เอทิฟอนความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม (ชุดควบคุมโพซิทีฟ) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมีในส่วนตัดกลมของใบคะน้า โดยนำใบคะน้าที่ตัดเป็นวงกลมมาจุ่มในสารข้างต้น เป็นเวลา 10 นาที แล้วเก็บรักษาในที่มืดอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ชิ้นส่วนคะน้าตัดกลมที่ได้รับ MeJAที่ความเข้มข้น 224 พีพีเอ็ม มีการลดลงของปริมาณคลอโรฟิลล์เอ และ บี มากกว่าชุดทดลองอื่น ส่งผลให้ชิ้นใบคะน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเร็วที่สุด และมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนสูง เมื่อเปรียบเทียบกับชุดทดลองอื่น สำหรับการศึกษาผลของ SA ความเข้มข้นที่ 0 (ชุดควบคุม) 0.138 1.38 และ 13.8 พีพีเอ็ม และเอทิฟอนที่ความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม (ชุดควบคุมโพซิทีฟ) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมีในส่วนตัดกลมของใบคะน้า โดยนำใบคะน้าที่ตัดเป็นวงกลมมาจุ่มในสารข้างต้น เป็นเวลา 10 นาที แล้วเก็บรักษาในที่มืดอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ชิ้นใบคะน้าตัดกลมที่ได้รับ SA ที่ความเข้มข้น 13.8 พีพีเอ็ม สามารถชะลอการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง โดยลดการสลายตัวของปริมาณคลอโรฟิลล์เอ บี และลดอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีนได้เมื่อเปรียบเทียบกับชุดทดลองอื่น  ส่วนการศึกษาผลของ เอทิฟอน 6-BAP MeJA และ SA ต่อกิจกรรมเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายของคลอโรฟิลล์ในชิ้นส่วนตัดกลมของใบคะน้า โดยนำใบคะน้าที่ตัดเป็นวงกลมมาจุ่มในสารละลายที่มีเอทิฟอนที่ความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม 6-BAPที่ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม MeJA ที่ความเข้มข้น 224 พีพีเอ็ม และ SA ที่ความเข้มข้น 13.8 พีพีเอ็ม แล้วนำไปเก็บรักษาในที่มืดที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ชิ้นส่วนคะน้าตัดกลมที่ได้รับเอทิฟอนความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม หรือ MeJAที่ความเข้มข้น 224 พีพีเอ็ม มีค่าการเปลี่ยนแปลงสี คือ L* a* b*และ hue เพิ่มขึ้นมากกว่าใบคะน้าชุดควบคุมและชุดอื่นๆในระหว่างการเก็บรักษา ในขณะที่ชิ้นใบคะน้า ที่ได้รับ 6-BAP ที่ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม หรือ SA ที่ความเข้มข้น 13.8 พีพีเอ็ม มีการเปลี่ยนแปลงค่าสีน้อยกว่าชุดควบคุม และชะลอการสูญเสียคลอโรฟิลล์เอ และบี โดยชิ้นใบคะน้าที่จุ่ม 6-BAP ที่ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม มีกิจกรรมของเอนไซม์ Chlorophyllaseและ Pheophytinase ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับชุดทดลองอื่นตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา ในขณะที่ SA ที่ความเข้มข้น 13.8 พีพีเอ็ม มีผลต่อการลดกิจกรรมของเอนไซม์ Chlorophyllase, Mg-dechelatase และ Chlorophyll degrading peroxidase และ Pheophytinaseของชิ้นใบคะน้าในระหว่างการเก็บรักษา ในทางตรงกันข้ามการได้รับเอทีฟอนที่ความเข้มข้น 10 พีพีเอ็ม หรือ MeJA ที่ความเข้มข้น 224 พีพีเอ็ม ทำให้เร่งการสลายของคลอโรฟิลล์เอ และบี โดยเพิ่มกิจกรรมของเอนไซม์ Chlorophyllase, Mg-dechelataseและ Chlorophyll degrading peroxidase ในชิ้นใบคะน้าในระหว่างการเก็บรักษา ดังนั้น การใช้ 6-BAP ที่ความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม หรือ SA ที่ความเข้มข้น 13.8 พีพีเอ็ม สามารถชะลอการเหลืองในชิ้นใบคะน้าได้ในระหว่างการเก็บรักษา โดยลดกิจกรรมของเอนไซม์  Chlorophyllaseและ Pheophytinase