บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารในกลุ่มไซโตไคนิน และน้ำตาลทรีฮาโลส ร่วมกับบรรจุภัณฑ์ ในการชะลอการเสื่อมสภาพ และยืดอายุการปักแจกันของเฟินนาคราช

ภัทราพร งามขำ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2555.

2555

บทคัดย่อ

การใช้สารในกลุ่มไซโตไคนิน และน้ำตาลทรีฮาโลส ร่วมกับบรรจุภัณฑ์ ในการชะลอการเสื่อมสภาพ และยืดอายุการปักแจกันของเฟินนาคราช

การวิจัยนี้เป็นการชะลอการเหลืองและการเสื่อมสภาพของใบเฟินนาคราชระหว่างการใช้งานโดยทำการพัลซิ่งในสารส่งเสริมคุณภาพที่มีสารในกลุ่มไซโตไคนิน และ/หรือน้ำตาลทรีฮาโลสระยะสั้นๆ ก่อนการปักแจกัน (การทำพัลซิ่ง) ใบเฟินนาคราชที่ทำการพัลซิ่งในสารละลาย Thidiazuron(TDZ) ที่ความเข้มข้น 10 µM หรือในสารละลาย6-benzylaminopurine(BA) ที่ความเข้มข้น 100 ppmนาน 24ชั่วโมง ก่อนนำมาปักแจกันในน้ำกลั่น ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิ 21±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% ภายใต้แสงฟลูออเรสเซนส์ 12 ชั่วโมงต่อวัน มีอายุการใช้งานนาน 11.56 และ 11.11 วัน ในขณะที่การพัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) มีอายุการปักแจกันเพียง 9.22 วัน จากการศึกษา พบว่า การพัลซิ่งด้วยสารละลาย TDZ และ BA สามารถชะลอการเหลืองของใบ โดยไปชะลอการลดลงของปริมาณคลอโรฟิลล์ที่สัมพันธ์กับการลดลงของกิจกรรมของเอนไซม์ Mg-dechelataseและ Pheophytinaseได้  แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด ขณะที่การพัลซิ่งด้วยสารละลายน้ำตาลทรีฮาโลส ที่ความเข้มข้น 0.01 และ 0.05 mM  ไม่มีผลต่อการยืดอายุการปักแจกันเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำกลั่น (ชุดควบคุม)แต่การพัลซิ่งด้วยสารละลายน้ำตาลทรีฮาโลส ที่ความเข้มข้น 0.05 mM มีแนวโน้มยืดอายุการใช้งานดีที่สุด โดยสามารถชะลอการลดลงของปริมาณคลอโรฟิลล์ และปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในใบได้ อย่างไรก็ตาม น้ำตาลทรีฮาโลสไม่สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด อัตราการดูดน้ำ และการเหลืองของใบได้ และเมื่อทำการพัลซิ่งใบเฟินด้วยสารละลาย TDZ ที่ความเข้มข้น 10 µM ร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลส ที่ความเข้มข้น 0.05 mMพบว่าใบเฟินมีอายุการปักแจกัน (10.89 วัน) น้อยกว่าการพัลซิ่งด้วย TDZ เพียงอย่างเดียว (11.67 วัน)  แต่นานกว่าการทำพัลซิ่งในสารละลายน้ำตาล Trehaloseเพียงอย่างเดียว(9.56วัน) และในน้ำกลั่น (8.89 วัน) นอกจากนี้ยังทำการยืดอายุการเก็บรักษาของใบเฟินนาคราชก่อนนำไปปักแจกัน โดยทำการพัลซิ่งใบเฟินนาคราชในสารละลาย TDZ ที่ความเข้มข้น 10 µMหรือในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) นาน 24 ชั่วโมงแล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกชนิด Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP) หนา 25 µM ขนาด 25x30 cmโดยบรรจุเฟินนาคราช 10ก้านต่อถุง ปิดผนึก และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 100% ระหว่างการเก็บในสัปดาห์ที่ 1  2 และ 3สัปดาห์ จากนั้นย้ายใบเฟินมาปักในน้ำกลั่น ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิ 21±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% ภายใต้แสงฟลูออเรสเซนส์ 12 ชั่วโมงต่อวัน พบว่า ใบเฟินที่พัลซิ่งในสารละลาย TDZและเก็บนาน 1 สัปดาห์ มีอายุการปักแจกันนานที่สุด 9.6 วัน ในขณะที่ชุดควบคุมที่เก็บรักษานาน 3 สัปดาห์ มีอายุการปักแจกันสั้นที่สุด 3.6 วัน ซึ่งการพัลซิ่งด้วยสารละลาย TDZ และเก็บรักษานาน 1 สัปดาห์ สามารถชะลอการเหลืองและการลดลงของปริมาณคลอโรฟิลล์ได้ดี โดยมีผลชะลอกิจกรรมของเอนไซม์ Chlorophyll degrading peroxidase และลดกิจกรรมของเอนไซม์ pheophytinase ได้มากกว่าการพัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) ทำให้ใบเฟินนาคราชมีอายุการปักแจกันนานขึ้น