บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเอทิลีนต่อการสะท้านหนาวในกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

กิตติ ไสยวรรณ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 138 หน้า. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ผลของเอทิลีนต่อการสะท้านหนาวในกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

การศึกษาผลของเอทิลีนต่ออาการสะท้านหนาวในกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้า โดยแช่หรือไม่แช่กล้วยทั้งสองพันธุ์ในสารละลายเอทิฟอนความเข้มข้น 500 mg/Lและรมด้วยสาร 1-MCP ความเข้มข้น 500 nl/L ก่อนนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4°Cเป็นเวลา 8 วันในผลกล้วยหอมทอง และ 12วัน ในผลกล้วยน้ำว้า แล้วย้ายผลกล้วยมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cทุก 4วัน และตรวจวัดคุณภาพผลกล้วย ทุก 2 วัน หลังการย้ายผลมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cพบว่าผลกล้วยที่รมด้วยสาร 1-MCP มีอาการสะท้านหนาวมากกว่าชุดควบคุมในขณะที่ผลกล้วยที่แช่สารละลายเอทิฟอนมีอาการสะท้านหนาวน้อยที่สุดทั้งในระหว่างเก็บรักษา และเมื่อย้ายไปวางที่อุณหภูมิ 25°Cผลกล้วยทุกทรีทเมนต์มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด (SS)ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA)ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (TS)ปริมาณแป้งทั้งหมด ความแน่นเนื้อของเปลือกและเนื้อ อัตราการหายใจ และการผลิตเอทิลีน ไม่เปลี่ยนแปลงระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ แต่เมื่อย้ายผลกล้วยไปวางไว้ที่อุณหภูมิ 25°Cพบว่าผลกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าที่แช่เอทิฟอนมีปริมาณ SSTATSอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ความแน่นเนื้อของเปลือกและเนื้อลดลงมากกว่าชุดควบคุมและชุดที่รมด้วยสาร 1-MCP18 ชั่วโมง กล้วยทั้งสองพันธุ์ที่แช่สารละลายเอทิฟอนก่อนการเก็บรักษา เมื่อย้ายมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cเกิดกระบวนการสุกได้ตามปกติ  สำหรับการแสดงออกของยีน MA-ACS MA-ACO และ MA-beta amylaseพบว่าระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4°Cและหลังย้ายมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cผลกล้วยทั้งสองพันธุ์ที่แช่เอทิฟอนมีการแสดงออกของยีนทั้งสามยีน มากกว่าชุดควบคุม และชุดที่รมด้วยสาร 1-MCP อาจสรุปได้ว่าการให้เอทิฟอน (เอทิลีน) กับผลกล้วยก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำสามารถลดการสะท้านหนาว และผลกล้วยเกิดกระบวนการสุกได้ในกล้วยทั้งสองพันธุ์หลังการเก็บรักษา