บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะเวลาการแช่ อุณหภูมิ และพีเอชของน้ำโอโซนต่อการลดปริมาณอีไทออนตกค้างและคุณภาพของผลส้มสายน้ำผึ้งหลังการเก็บเกี่ยว

นันทิยา วงศ์ศิริศักดิ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ผลของระยะเวลาการแช่ อุณหภูมิ และพีเอชของน้ำโอโซนต่อการลดปริมาณอีไทออนตกค้างและคุณภาพของผลส้มสายน้ำผึ้งหลังการเก็บเกี่ยว

การลดปริมาณสารอีไทออนในสารละลายโดยใช้ก๊าซโอโซนที่อัตราการไหล 25 มล.ต่อนาที ที่อุณหภูมิและพีเอชต่างๆกัน พบว่า ที่อุณหภูมิ 5, 15 และ 25°ซ เมื่อปล่อยโอโซนลงในสารละลายนาน 15 นาที มีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนเท่ากับ 43.98, 18.97 และ 21.31 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเมื่อเพิ่มเวลาการปล่อยโอโซนลงในสารละลายเป็น 60 นาที มีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนเพิ่มขึ้นเป็น 30.99, 56.02 และ 49.90 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากนั้นปรับระดับพีเอชของสารละลายอีไทออนเป็น 4, 7 และ 10 ที่อุณหภูมิ 15 และ 25°ซ พบว่า  อุณหภูมิ 15°ซ พีเอช 4, 7 และ 10 ที่เวลา 60 นาที มีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนเท่ากับ 35.75, 59.17 และ 61.31 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วน อุณหภูมิ 25°ซ พีเอช 4, 7 และ 10 ที่เวลา 60 นาทีมีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนเท่ากับ 38.29 , 60.36 และ 62.44 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

นำผลส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง มาแช่ในสารละลายอีไทออนเข้มข้น 1 มก./ล. นาน 10 นาที แล้วนำมาลดสารอีไทออนที่ตกค้างในผลส้มโดยแช่ในสารละลายโอโซนที่อัตราการไหล 25 มล.ต่อนาที พบว่า อุณหภูมิ 25°ซ พีเอช 10 ที่ระยะเวลา 60 นาที มีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนมากที่สุดเท่ากับ 49.41 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ อุณหภูมิ 25°ซ พีเอช 7, อุณหภูมิ 15°ซ พีเอช 10 และ 7 มีปริมาณการสลายตัวของสารอีไทออนเท่ากับ 45.41, 41.14 และ 40.27 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งในทุกกรรมวิธีสามารถลดสารอีไทออนที่ตกค้างในผลส้มได้ดีกว่าการแช่ในน้ำกลั่น นอกจากนี้การล้างผลส้มในน้ำโอโซน ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ และปริมาณกรดแอสคอบิค