บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุต่อผีเสื้อข้าวเปลือกและคุณภาพการสีของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

อัมพร บัวผุด

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ผลของการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุต่อผีเสื้อข้าวเปลือกและคุณภาพการสีของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

ผีเสื้อข้าวเปลือก Sitotroga cerealella (Olivier) เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดของข้าวเปลือก ระยะหนอนเป็นระยะกัดกินอาศัยอยู่ในเมล็ดข้าว ส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียต่อข้าวเปลือกทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RF) ต่อผีเสื้อข้าวเปลือกและคุณภาพการสีของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105ในการทดลองที่ 1 ศึกษาคุณสมบัติไดอิเล็กทริก ของเมล็ดข้าวเปลือกที่มีความชื้นเริ่มต้น 15 เปอร์เซ็นต์  และ เมล็ดข้าวที่มีแมลงติดอยู่ในระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้ ด้วยเครื่องวิเคราะห์อิมพีแดนซ์ความแม่นยำสูง  ที่ช่วงความถี่ 0-50 MHz  ระยะเพลท 1.00 และ 1.50 เซนติเมตร โดยแบ่งเป็น 3ย่านความถี่ ซึ่งใกล้เคียงกับความถี่ที่ใช้สำหรับให้ความร้อนในระดับอุตสาหกรรม คือ 13.27, 27.55และ 41.84MHz  พบว่าที่ความถี่ 41.84 MHz ระยะเพลท 1.00 เซนติเมตร ระยะหนอนของผีเสื้อข้าวเปลือกที่อยู่ในเมล็ดข้าวเปลือก มีความสามารถในการสะสมและปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าเมล็ดข้าวเปลือกที่มีไข่ ดักแด้ และเมล็ดข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว  ในการทดลองที่2 ศึกษาความทนทานของผีเสื้อข้าวเปลือกต่อ RF ที่ความถี่ 27.12 MHz ในระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้ที่อยู่ในเมล็ดข้าวเปลือกบรรจุในถุงกระสอบป่าน พร้อมกับข้าวเปลือกที่มีความชื้น14 เปอร์เซ็นต์ นำไปให้ RF ที่พลังงาน 700 วัตต์ เวลา 120 วินาทีพบว่า ระยะไข่ หนอน และดักแด้มีอัตราการตายแตกต่างกันทางสถิติ(P<0.05) เท่ากับ 80.04, 88.82และ 68.75 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับการทดลองที่ 3 ใช้ผีเสื้อข้าวเปลือกระยะดักแด้เป็นตัวแทนของระยะต่าง ๆ ที่ทนทานต่อ RFนำมาศึกษาเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ผีเสื้อข้าวเปลือกตายอย่างสมบูรณ์  โดยนำไป ให้RFที่พลังงาน 700 วัตต์ ที่ระยะ เวลา 120,140, 160, 180, 200และ 220 วินาที พบว่า ดักแด้มีอัตราการตายอย่างสมบูรณ์(100 เปอร์เซ็นต์)  ที่ระยะเวลา 220 วินาทีอุณหภูมิสุดท้ายเฉลี่ยเท่ากับ 72.1 ± 0.4องศาเซลเซียส

ข้าวขาวดอกมะลิ 105ที่มีความชื้น 12.78เปอร์เซ็นต์ พบว่าหลังหลังจากให้ความร้อนด้วย RF เป็นเวลา 220วินาที มีผลทำให้ความชื้นลดลงมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 11.53 เปอร์เซ็นต์ และเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวจาก 43.26 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เป็น 48.26 เปอร์เซ็นต์ และค่าสีเหลือง (b*)เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จาก 15.45 ไปเป็น 15.75ส่วนเปอร์เซ็นต์ข้าวกล้อง ข้าวขาว ค่าความสว่าง (L*)และปริมาณอะไมโลส หลังจากการใช้ RF มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างทางสถิติกับกรรมวิธีที่ไม่ได้ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ