บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจหาการปนเปื้อนของเชื้อ Aspergillus flavus ในเมล็ดข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี

รุ่งนภา ไกลถิ่น

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 93 หน้า. 2555.

2555

บทคัดย่อ

การตรวจหาการปนเปื้อนของเชื้อ Aspergillus flavus ในเมล็ดข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (near infrared spectroscopy, NIRS) สำหรับการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อราในเมล็ดข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยเริ่มจากนำข้าวสารมาตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อราด้วยเทคนิคการเลี้ยงเชื้อบนอาหารวุ้น PDAพบ เชื้อราที่ปรากฏชัดเจน คือ Aspergillus flavusและ Aspergillus niger จากนั้นวัดสเปกตรัมของเชื้อราทั้งสองชนิดด้วยเครื่องNIRSystem6500 ความยาวคลื่น 400-2500 นาโนเมตร แล้ววิเคราะห์สเปกตรัมด้วยเทคนิค principle component analysis (PCA)พบว่า สเปกตรัมของเชื้อราทั้งสองชนิดแยกออกจากกันอย่างชัดเจนตลอดช่วงความยาวคลื่น แล้วจึงสร้างสมการเทียบมาตรฐานด้วยเทคนิค partial least squares regression (PLSR) จากตัวอย่าง 3 แหล่ง: สมการจากการผสมเมล็ดข้าวสารที่มีเชื้อรา A. flavusปนเปื้อนที่ระดับ 0, 5, 10, 15 และ 20 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก สมการเทียบมาตรฐานการปนเปื้อนเชื้อรา A. flavusในชุดควบคุม (ไม่ได้ปลูกเชื้อ) และชุดปลูกเชื้อ (inoculation) ระหว่างการเก็บรักษาเป็นเวลา 3 เดือนโดยใช้ปริมาณสารอะฟลาทอกซินเป็นตัวบ่งชี้ แล้วเปรียบเทียบความแม่นยำของทั้ง 3 สมการ พบว่าสมการเทียบมาตรฐานของระดับการผสมเมล็ดข้าวสารที่มีเชื้อรา A. flavusปนเปื้อน สมการเทียบมาตรฐานการปนเปื้อนเชื้อรา A. flavusโดยใช้ปริมาณสารอะฟลาทอกซินในชุดควบคุม (เมล็ดปกติ) และชุดที่ถูกปลูกเชื้อรา A. flavus ความเข้มข้น 106สปอร์ต่อมิลลิลิตร มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (R) เท่ากับ 0.97,0.66 และ 0.49 ตามลำดับ ค่าผิดพลาดมาตรฐานในกลุ่มสร้างสมการ (SEC) เท่ากับ 1.60%, 2.49 ppb และ 2.50 ppb ตามลำดับ ค่าผิดพลาดมาตรฐานในกลุ่มทดสอบสมการ (SEP) เท่ากับ 1.82%, 2.41 ppb และ 2.52 ppb ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยของผลต่างระหว่างค่าที่ได้จากวิธีอ้างอิงกับค่าที่ได้จาก NIR (bias) เท่ากับ -0.28%, 0.01 ppb และ -0.05 ppb ตามลำดับ และสัดส่วนระหว่างค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าวิเคราะห์ทางเคมีกับค่า SEP ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบสมการ (RPD) เท่ากับ 3.91, 1.28 และ 1.10 ตามลำดับ จากสมการเทียบมาตรฐานพบว่า สมการของระดับการผสมเมล็ดข้าวสารที่มีเชื้อรา A. flavusปนเปื้อนมีความแม่นยำสูงสุด โดยค่า R และ RPD มีค่าสูง ส่วน SEC, SEP และ bias มีค่าต่ำ สมการเทียบมาตรฐานการปนเปื้อนเชื้อราA. flavusในระหว่างการเก็บรักษาโดยใช้ปริมาณสารอะฟลาทอกซินในชุดควบคุมและชุดที่ถูกปลูกเชื้อรามีความแม่นยำต่ำ เนื่องจากมีค่า R และ RPD อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปีสามารถใช้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อราA. flavusในเมล็ดข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ระดับการผสมข้าวสารที่มีเชื้อราต่ำสุด 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักได้อย่างแม่นยำ แต่การตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อรา A. flavus โดยใช้ปริมาณสารอะฟลาทอกซินเป็นตัวบ่งชี้สำหรับการศึกษาวิจัยนี้พบว่าสมการไม่มีความแม่นยำ