บทคัดย่องานวิจัย

การผลิตเมล็ดสังเคราะห์ดับเบิ้ลแฮปพลอยด์ในพันธุ์ข้าวไทยพื้นเมืองโดยการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสร

ปิยชัย เปรมวรานนท์

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พืชไร่) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.

2555

บทคัดย่อ

การผลิตเมล็ดสังเคราะห์ดับเบิ้ลแฮปพลอยด์ในพันธุ์ข้าวไทยพื้นเมืองโดยการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสร

การวิจัยนี้นำเสนอการพัฒนาเทคนิคในสภาพปลอดเชื้อของการผลิตดับเบิ้ลแฮปพลอยด์ในข้าวลูกผสมอินดิก้า โดยการรวมเทคนิคการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสรการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน และการเพิ่มจำนวนชุดโครโมโซมเข้าด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความแปรปรวนทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และลดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วย ทำการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสรของข้าวลูกผสมขาวดอกมะลิ 105 x สุพรรณบุรี 1 (อินดิก้า x อินดิก้า) ในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกึ่งแข็งสูตร Linsmaier และ Skoog (LS)ซึ่งประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก (KNO3, NH4NO3) สารควบคุมการเจริญเติบโต (2,4-D, NAA)และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ และทำการย้ายมาเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว LS สูตรชักนำให้พัฒนาเป็นเอมบริโอโดยเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว LS ซึ่งประกอบด้วย KNO3 ความเข้มข้น 10 ไมโครโมล  2,4-D ความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อลิตร NAA ความเข้มข้น 2มิลลิกรัมต่อลิตร น้ำมะพร้าว 200มิลลิลิตร และผงถ่านกัมมันต์ ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร พบว่าสามารถชักนำให้เกิดเอมบริโอเจนิกแคลลัสที่มีขนาด 4-5 มิลลิเมตรเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การเติมโคลชิซินที่ความเข้มข้น 0.2กรัมต่อลิตร ร่วมกับ 2,4-D ความเข้มข้น 100 ไมโครโมลลงในอาหารสูตร LSมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการผลิตต้นอ่อนที่เป็นดับเบิ้ลแฮฟพลอยด์ให้มีชีวิตรอดในปริมาณที่สูง (มากกว่า 70 %) ในระยะเวลา 8สัปดาห์ และทำการเปลี่ยนอาหารเพาะเลี้ยงเพียง 2 ครั้ง โดยปราศจากการแปรปรวนทางพันธุกรรมเปรียบเทียบกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออับละอองเกสรแบบเดิมซึ่งใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงมากกว่า 12สัปดาห์ และต้องทำการเปลี่ยนอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมากกว่า 4ครั้ง หลังจากเคลือบโซมาติกเอมบริโอด้วย  sodium alginateความเข้มข้น 3%และ calcium chloride ความเข้มข้น 75 มิลลิโมล และทำการระเหยน้ำออกจากเมล็ดสังเคราะห์จนมีระดับการสูญเสียน้ำ 80 % พบว่าเปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตยังสูงถึง 74 %หลังจากเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 ± 2°Cในสภาพมีแสง 16ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 2สัปดาห์ และสามารถงอกได้ภายใน 1สัปดาห์

ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตต้นอ่อนดับเบิ้ลแฮฟพลอยด์ข้าวในปริมาณมากในระยะเวลาที่น้อยลงได้ด้วย