บทคัดย่องานวิจัย

ผลของน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลสต่อคุณภาพและอายุปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

ณัฐกฤตา แก้วคำ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลสต่อคุณภาพและอายุปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

การศึกษาผลของน้ำตาลทรีฮาโลสและน้ำตาลซูโครส ความเข้มข้น 1 และ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย 5 สายพันธุ์คือ  ‘Red Sonia’  ‘Big White  Jumbo’   ‘Miss Teen’  ‘Queen Pink’  และ ‘Yunan’  พบว่าสารละลายน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลส ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ สามารถยืดอายุการปักแจกันได้นานกว่าสารละลายน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลส ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ และน้ำกลั่น โดยช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Queen Pink’ และ ‘Miss Teen’ตอบสนองต่อสารละลายน้ำตาลทรีฮาโลส ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ได้ดีที่สุด ซึ่งสามารถยืดอายุการปักแจกันได้นานถึง  20.7 และ 27.2 วัน ส่วนดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Big White Jumbo’และ ‘Yunan’ตอบสนองต่อสารละลายน้ำตาลซูโครส ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์  และมีอายุการปักแจกันได้นานถึง  23 และ 28.8 วัน แต่น้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลสไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์  ‘Red Sonia’ ได้ ทั้งนี้การบานเพิ่มของดอกตูม และการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสดของช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ต่างๆ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทรีทเมนต์  จากนั้นทำการคัดเลือกดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Yunan’ มาปักในสารละลายน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลทรีฮาโลส ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับน้ำยาปักแจกันทางการค้าชนิด A® และ B®  พบว่าช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Yunan’ ปักในสารละลายชนิดต่างๆ  มีอายุการปักแจกัน อัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน การเหี่ยว การหลุดร่วงและการเสื่อมสภาพไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ เป็นไปได้ว่าสารละลายน้ำตาลทรีฮาโลสและน้ำตาลซูโครส ความเข้มข้น 2เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับน้ำยาปักแจกันทางการค้า แต่อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาปักแจกันทางการค้าชนิด A® และ B® มีแนวโน้มในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีที่สุด  จากการศึกษากิจกรรมเอนไซม์   อินเวอร์เทสในดอกตูมและดอกบานของดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Yunan’พบว่าช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ ‘Yunan’ ที่ปักในสารละลายทุกทรีทเมนต์มีกิจกรรมเอนไซม์อินเวอร์เทสในดอกตูมและดอกบานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่กิจกรรมเอนไซม์อินเวอร์เทสในดอกบานมากกว่าในดอกตูมอาจเนื่องมาจากดอกบานมีการสะสมน้ำตาลมากส่งผลให้ดอกบาน มีกิจกรรมเอนไซม์อินเวอร์เทสสูงกว่าในดอกตูม