บทคัดย่องานวิจัย

เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและการศึกษาสภาวะการเก็บรักษาเห็ดแครง

ศิริวรรณ์ ชลายน

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 80 หน้า. 2554.

2554

บทคัดย่อ

เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและการศึกษาสภาวะการเก็บรักษาเห็ดแครง

เห็ดแครงเป็นเห็ดที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายในภาคใต้ของประเทศไทย  เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีสารต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าเพิ่มขึ้นและยังนำมาสกัดเพื่อเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง  ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นเห็ดเศรษฐกิจได้ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาเทคนิคการเพิ่มผลผลิตและสภาวะการเก็บรักษาเห็ดแครง โดยเริ่มจากการศึกษาคุณภาพของเห็ดแครงที่บรรจุในถาดโฟม expandable polystyrene (EPS) หุ้มด้วยฟิล์ม polyvinyl chloride(PVC ) หนา 11 ไมครอน เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5, 13 (ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95) และ 25 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 60-70) ในสภาวะ passive modified atmosphere  พบว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส สามารถรักษาคุณภาพของเห็ดแครงได้ดีที่สุด เนื่องจากมีอัตราการหายใจ การสูญเสียน้ำหนัก และการเปลี่ยนแปลงสีน้อยที่สุดโดยไม่เกิดอาการสะท้านหนาว เมื่อนำเห็ดแครงมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ 3ชนิดได้แก่ ถาดโฟม EPSหุ้มด้วยฟิล์ม PVC   ถาด clamshellที่ทำจากพลาสติก polyethylene terephthalate(PET)และถุง oriented polypropylene (OPP)แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95) พบว่าผู้บริโภคยอมรับเห็ดแครงที่บรรจุในถาดโฟม EPSมากที่สุด เนื่องจากไม่มีไอน้ำเกาะด้านในบรรจุภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคสามารถเห็นเห็ดแครงที่อยู่ภายในได้อย่างชัดเจน ส่วนความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจนภายในถาด clamshellและถุง OPPค่อนข้างคงที่ตลอดการเก็บรักษา เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสารต้านอนุมูลอิสระในเห็ดแครงระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14วัน โดยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH)radical scavenging assay และ  ferric reducing antioxidant power assay (FRAP)พบว่ากิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระมีแนวโน้มลดลงตลอดอายุการเก็บรักษาและเห็ดแครงมีปริมาณสารประกอบฟีนอลเพิ่มขึ้นในวันที่ 2 และวันที่ 6หลังจากนั้นสารประกอบฟีนอลมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้การทำเห็ดแครงแห้งโดยการตากแดดอุณหภูมิประมาณ 35องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24ชั่วโมง   อบที่อุณหภูมิ 60องศาเซลเซียส16ชั่วโมง หรืออบที่อุณหภูมิ 70องศาเซลเซียส16ชั่วโมง พบว่าเห็ดที่ผ่านการตากแดดมีกิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดรองลงมาคือเห็ดที่ผ่านการอบที่อุณหภูมิ 60และ 70องศาเซลเซียสตามลำดับ และเมื่อเก็บรักษาเห็ดแครงแห้งไว้ในถุง LDPEเป็นเวลา 45วัน พบว่ากิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   และจากการศึกษาเทคนิคการเปิดดอกเห็ดแครงจากถุงเชื้อเห็ดขนาด 600กรัม  ภายใต้สภาพบรรยากาศห้องปกติ (อุณหภูมิ 30 - 35องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์80 – 90%)พบว่าเมื่อเปิดดอกเห็ดแครงโดยการกรีดเฉียง45 องศาที่มุมถุงยาว 7.5เซนติเมตร จำนวน 8แผลให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดแนวตั้งยาว 10เซนติเมตร 6แผล และกรีดเป็นรอยขนาด 3เซนติเมตร 20 แผล ในแนวนอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ