บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสาร Carbonates และ Sodium dichloroisocyanurate (DICA) ต่อปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และอายุการปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้

นันทกานต์ สัตยวงศ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 181 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ผลของสาร Carbonates และ Sodium dichloroisocyanurate (DICA) ต่อปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และอายุการปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้

สาเหตุหนึ่งของการเสื่อมสภาพของช่อดอกกล้วยไม้ คือการอุดตันของเชื้อจุลินทรีย์บริเวณก้านช่อดอกโดยเฉพาะบริเวณปลายก้านช่อดอกมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ภายในก้านมากที่สุดและลดน้อยลงเมื่อระยะทางจากปลายก้านเพิ่มขึ้น เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารประกอบคาร์บอเนต 4 ชนิด ในการยังยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์จากน้ำปักแจกันช่อดอกกล้วยไม้บนอาหารเลี้ยงเชื้อ Nutrient agar พบว่าโซเดียมคาร์บอเนต (SC) ความเข้มข้น 1.5, 1.75 และ 2 เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียมคาร์บอเนต (PC)ความเข้มข้น 1.75 และ 2 เปอร์เซ็นต์ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ จากการนำสารประกอบคาร์บอเนตทั้ง 2 ชนิดนี้ไปใช้เป็นสารละลายปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้ สกุลหวายพันธุ์บูรณะเจตร่วมกับซูโครส 2 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลายปักแจกันได้เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) และพบว่าการปักช่อดอกใน SC ความเข้มข้น 1.75 เปอร์เซ็นต์ ช่วยชักนำการบานเพิ่มของดอกตูมได้ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีผลส่งเสริมการดูดน้ำหรือยืดอายุการปักแจกันของช่อดอกได้ สำหรับการใช้สารประกอบคาร์บอเนตทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารละลายปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาราพันธุ์ Nora Pink พบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลายปักแจกันลงได้ 5 log CFU/ml เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม โดย PC ความเข้มข้น 1.75 และ 2 เปอร์เซ็นต์ มีผลส่งเสริมการดูดน้ำ และการบานของดอกตูม รวมถึงช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของดอกตูมได้ดีที่สุด

การทดสอบประสิทธิภาพของ Sodium dichloroisocyanurate (DICA) ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์จากน้ำปักแจกันบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PCA พบว่า DICAความเข้มข้น 20 และ 40 mg/L สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ลงได้ 0.2-0.4 log CFU/ml เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) และเมื่อนำมาใช้เป็นสารละลายปักแจกันช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์บูรณะเจตร่วมกับซูโครส 2 เปอร์เซ็นต์ พบว่าการใช้ DICA ความเข้มข้น 40 mg/L มีผลช่วยลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ ในสารละลายปักแจกัน ลงได้ 4 log CFU/ml ใน 3 วันแรกของการปักแจกันเท่านั้น และมีผลช่วยชะลอการหลุดร่วงของดอกตูมได้ดี สำหรับการใช้ DICA หรือ DICA ร่วมกับซูโครส 2 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารละลายปักแจกันช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาราพันธุ์ Nora Pink พบว่า DICA ความเข้มข้น 40 mg/L สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกัน ลงได้ 2-5 log CFU/ml เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) และช่วยส่งเสริมอัตราการดูดน้ำของช่อดอก การบานเพิ่มของดอกตูม ชะลอการหลุดร่วงของดอกตูมและดอกบาน และช่อดอกมีอายุการปักแจกันนาน 18 วัน ในขณะที่ชุดควบคุมมีอายุการปักแจกันเพียง 13.5 วัน

การเปรียบเทียบผลของการพัลซิ่งช่อดอกกล้วยไม้ด้วยสารประกอบคาร์บอเนต 2พบว่าการพัลซิ่ง ดอกกล้วยไม้ สกุลหวายพันธุ์บูรณะเจตด้วยสารละลาย PC ช่วยส่งเสริมการดูดน้ำและการบานเพิ่ม ของดอกตูม แต่ไม่มีผลช่วยยืดอายุการปักแจกันของช่อดอก ในทางกลับกันพบว่าการพัลซิ่ง ดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาราพันธุ์ ‘Nora Pink’ ด้วยสารละลาย SC มีผลส่งเสริมอัตราการดูดน้ำ และการบานเพิ่มของดอกตูมสูงกว่าการใช้ PC และน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) นอกจากนี้ การพัลซิ่งช่อดอกกล้วยไม้ทั้ง 2สกุล ด้วยสารละลาย SC และ PC ก่อนการนำไปปักในน้ำกลั่น ทำให้มีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันต่ำกว่าชุดควบคุม ส่วนการพัลซิ่งด้วย DICA ความเข้มข้น 20และ 40 mg/L มีแนวโน้มทำให้ช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายและมอคคารามีการบานเพิ่มของดอกตูมสูงกว่าชุดควบคุม โดยเฉพาะที่ความเข้มข้น 40 mg/L ทำให้ช่อดอกกล้วยไม้มอคคาราพันธุ์ Nora Pink มีการบานเพิ่มของดอกตูมเป็น 100เปอร์เซ็นต์ ผลการทดสอบการพัลซิ่ง ช่อดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาราพันธุ์ Nora Pink ด้วย SC 0.5เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับซูโครส 4เปอร์เซ็นต์ SC 0.5เปอร์เซ็นต์ และซูโครส 4เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับการพัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น และน้ำยาการค้า (Flora lifeTM และ ChrysalTM) นาน 1ชั่วโมง ก่อนนำมาปักในสารละลาย DICA และเก็บที่อุณหภูมิ 13องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3วัน (เพื่อจำลองการขนส่ง) แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ 25องศาเซลเซียส พบว่าการพัลซิ่งด้วยสารละลาย ChrysalTM มีผลทำให้ช่อดอกมีอัตราการดูดน้ำ และการบานเพิ่มของดอกตูมสูงที่สุด และอายุการปักแจกันสูงที่สุด (17.4) วัน ขณะที่ช่อดอกที่พัลซิ่งด้วยน้ำกลั่นและ SC เพียงอย่างเดียว มีอายุการปักแจกันเท่ากับ 16.2และ 14.9วัน ตามลำดับ