บทคัดย่องานวิจัย

การเข้าทำลายใบองุ่นของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสและความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าทำลายใบและผลองุ่นในสภาพแปลงปลูก

รัตติรส เชียงสิน

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (โรคพืช) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 76 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

การเข้าทำลายใบองุ่นของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสและความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าทำลายใบและผลองุ่นในสภาพแปลงปลูก

การศึกษากระบวนการเข้าทำลายของเชื้อรา C. gloeosporioides  สาเหตุโรคแอนแทรคโนส พบว่า บนใบองุ่นพันธุ์  Loose Perlette  สปอร์สามารถงอก germ tube ภายหลังจากปลูกเชื้อเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง และสร้าง appressoria หลังปลูกเชื้อเป็นระยะเวลา 5 ชั่วโมง บนใบองุ่นพันธุ์ Marroo Seedless สปอร์สามารถงอก germ tube  และสร้าง appressoria หลังปลูกเชื้อเป็นระยะเวลา  1 ชั่วโมง  การงอก germ tube  และการสร้าง appressoria  มีค่าสูงขึ้นเมื่อได้รับความชื้นเป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งเชื้อสามารถแทงผ่านเนื้อเยื่อพืชได้โดยตรง  การติดเชื้อรา C. gloeosporioides  บนใบองุ่นทั้ง 2 พันธุ์ เริ่มตั้งแต่เชื้อได้รับระยะใบเปียกต่อระยะใบแห้งเท่ากับ 0 : 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25 °ซ  การติดเชื้อบนใบองุ่นพันธุ์  Loose Perlette มากกว่าที่อุณหภูมิ 20 และ 30 °ซ  การติดเชื้อบนใบองุ่นเพิ่มสูงขึ้นเมื่อได้รับระยะใบเปียกเป็นเวลานานขึ้น ในองุ่นทั้ง 2  พันธุ์  พบการติดเชื้อมีค่าสูงที่สุดเมื่อเชื้อได้รับระยะใบเปียกต่อระยะใบแห้งเท่ากับ 24 : 0 ชั่วโมง และไม่แตกต่างกันทางสถิติระหว่างอุณหภูมิที่ 20  25 และ 30 °ซ   ลักษณะอาการของโรคแอนแทรคโนสบนใบองุ่นเกิดเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไปซึ่งแสดงให้เห็นภายหลังการปลูกเชื้อเป็นระยะเวลา 3  วัน ความรุนแรงของโรคในองุ่นทั้ง 2 พันธุ์อยู่ในระดับต่ำและไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ นอกจากนี้ ยังพบว่าอาการของโรคบนองุ่นพันธุ์ Courderc 1613 ใบอ่อนมีความรุนแรงมากกว่าใบแก่ เมื่อประเมินโรคหลังปลูกเชื้อเป็นระยะเวลา 7 วันและ 14  วัน พบว่า ใบตำแหน่งที่  1 นับจากยอดเป็นใบอ่อนที่สุด มีความรุนแรงของการเกิดโรคอยู่ในระดับมาก (high) ถึง ระดับมากที่สุด (very high) และใบในตำแหน่งที่  6  นับจากยอดเป็นใบแก่ที่สุด มีความรุนแรงของการเกิดโรคอยู่ในระดับต่ำ (low) การประเมินการเกิดโรคบนใบองุ่นภายใต้สภาพแปลงปลูก พบว่าในฤดูปลูกที่ 1 2 และ 3  (เดือน ต.ค. พ.ศ. 2551 – ม.ค. 2552  เดือน มี.ค. 2552 – พ.ค. 2552 และเดือน ก.ย. 2552 – พ.ย. 2552 ตามลำดับ) ดัชนีการเกิดโรคเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ระยะติดผลจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  องุ่นพันธุ์  Loose Perlette ในระยะเก็บเกี่ยว ฤดูปลูกที่ 1  2  และ 3  มีค่าดัชนีการเกิดโรคสูงสุดเท่ากับ 26.2 %  29.6 % และ 33.9 % ตามลำดับ  และพันธุ์ Marroo  Seedless   ระยะเก็บเกี่ยวมีค่าดัชนีการเกิดโรคสูงสุดเท่ากับ 25.4 %  29.6 % และ 26.7 % ตามลำดับ และการเพิ่มขึ้นของโรคบนองุ่นทั้ง 2 พันธุ์ ในฤดูปลูกที่ 3 มีค่ามากกว่าในฤดูปลูกที่ 1 และ 2  ทั้ง 3 ฤดูปลูก  ไม่พบลักษณะอาการของโรคบนผลองุ่นพันธุ์ Loose Perlette และพันธุ์  Marroo Seedless  ในระยะก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว  เชื้อรา C. gloeosporioides  สามารถเข้าทำลายผลองุ่นแบบแฝง ซึ่งพบการติดเชื้อแบบแฝงในสภาพธรรมชาติบนผลองุ่นพันธุ์  Marroo Seedless ในระยะผลโตและระยะผลเปลี่ยนสี เท่ากับ 4.6  และ 4 % ตามลำดับ และไม่พบบนผลองุ่นพันธุ์  Loose Perlette  เมื่อปลูกเชื้อบนผลองุ่นในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ พบการติดเชื้อแบบแฝงบนผลองุ่นพันธุ์  Loose Perlette  และพันธุ์ Marroo Seedless เท่ากับ 81% และ 69 % ตามลำดับบทคัดย่อ