บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเก็บรักษาด้วยอุณหภูมิต่ำ และวิธีการบรรจุที่มีต่อคุณภาพดอกปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู (Curcuma alismatifolia cv. Chiang Mai Pink)

กุลภัทร ยิ้มพักตร์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 122 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

ผลของการเก็บรักษาด้วยอุณหภูมิต่ำ และวิธีการบรรจุที่มีต่อคุณภาพดอกปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู (Curcuma alismatifolia cv. Chiang Mai Pink)

การศึกษาผลของอุณหภูมิต่ำและวิธีการบรรจุต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของปทุมมาตัดดอกพันธุ์เชียงใหม่สีชมพูเมื่อนำดอกไปเก็บรักษาแบบเปียกและเก็บรักษาแบบแห้งก่อนบรรจุลงในกล่องกระดาษลูกฟูกและนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ คือ 5, 8, 15 และ 27 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิห้อง) พบว่า การเก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียสแบบเปียก และ ที่ 15 องศาเซลเซียสแบบเปียก และแบบแห้งนาน 4 วัน มีอายุการใช้งานนานที่สุดดือ 10.8 9.8 และ 9.4 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบว่า ลักษณะการเสื่อมคุณภาพของดอกปทุมมาที่เก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสจะมีลักษณะแตกต่างจากการเสื่อมสภาพของดอกปทุมมาในชุดควบคุม โดยใบประดับสีชมพูมีลักษณะแห้ง และแสดงอาการสะท้านหนาว ส่วนใบประดับสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมน้ำตาลจนถึงน้ำตาลเข้มร่วมกับแสดงอาการฉ่ำน้ำลักษณะดังกล่าวปรากฏเมื่อเก็บรักษาไว้นานกว่า 8 วัน เมื่อนำช่อดอกปทุมมาห่อหุ้มด้วยวัสดุต่างๆก่อนบรรจุลงกล่องด้วย พลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน (polypropylene) กระดาษพรูฟเปียก กระดาษพรูฟแห้ง หรือไม่มีวัสดุห่อช่อดอก แล้วเก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียสแบบเปียก หรือที่ 15 องศาเซลเซียส แบบเปียกและแบบแห้ง พบว่าการเก็บรักษาที่ 5 และ 15 องศาเซลเซียส แบบเปียก ห่อช่อดอกด้วยพลาสติกนาน 4 วัน มีอายุการใช้งานนานที่สุดคือ 9.8 วัน การเก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียส แบบเปียก ห่อช่อดอกด้วยพลาสติกสามารถลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเนื่องจากใบประดับสีชมพูแห้ง พบระหว่างการเก็บรักษาโดยไม่มีวัสดุห่อช่อดอกได้ เมื่อนำช่อดอกไปเก็บรักษาที่ 5 องศาเซลเซียส แบบเปียก ห่อช่อดอกด้วยพลาสติก และที่ 15 องศาเซลเซียส แบบแห้งห่อช่อดอกด้วยกระดาษพรูฟแห้ง ทาใบประดับสีเขียวด้วยน้ำกลั่น หรือสารละลายของ Benzyladenine (BA) 25 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือสารละลายของ BA 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ Gibberellic acid (GA3) 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ก่อนนำไปเก็บรักษา พบว่าทุกกรรมวิธีมีอายุการปักแจกันสูงกว่าชุดควบคุมทั้งหมด โดยช่อดอกปทุมมาที่เก็บรักษาแบบแห้งนาน 4 วัน ห่อช่อดอกด้วยกระดาษพรูฟแห้งที่ 15 องศาเซลเซียส และทาช่อดอกด้วยสารละลาย BA 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ GA3 25 มิลลิกรัม มีอายุการใช้งานสูงที่สุด 10.3 วัน แต่พบปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบประดับสีชมพูมีค่ามากที่สุดเมื่อทาด้วยสารละลาย BA 25 มิลลิกรัมต่อลิตร รองลงมาคือการทาสารละลายของ BA 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ GA3 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งทำให้ใบประดับสีชมพูมีสีเขียวเข้มขึ้น