บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์แอนโทไซยานินในดอกบัวบางพันธุ์ในกลุ่มอุบลชาติ

สุดารัตน์ ขุนเมือง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 68 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์แอนโทไซยานินในดอกบัวบางพันธุ์ในกลุ่มอุบลชาติ

อุบลชาติเป็นไม้น้ำที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ทำให้เป็นกลุ่มบัวที่ดอกมีสีสันสวยงามมากมาย ในการทดลองนี้ได้นำส่วนต่าง ๆ ของดอกบัวในกลุ่มอุบลชาติ 4 พันธุ์ ได้แก่ เรดแฟลร์ (Nymphaea ‘Red Flare’; กลีบดอกสีแดง) ฉลองขวัญ (N. ‘King of Siam’; กลีบดอกสีม่วง) สุธาสิโนบลสีชมพู (N. capensis var. zanzibariensis pink) และสุธาสิโนบลสีน้ำเงิน (N. capensis var. zanzibariensis blue) มาวิเคราะห์ปริมาณ รูปแบบการดูดกลืนแสง และชนิดของแอนโทไซยานินที่สะสม โดยสารสกัดแอนโทไซยานินจากส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่แสดงการดูดกลืนแสงเป็นรูปแบบปกติเหมือนกับแอนโทไซยานินที่พบทั่วไป จากการตรวจสอบการดูดกลืนแสงของสารสกัดจาก 320 ไปถึง 700 นาโนเมตร หลังการบ่มในบัฟเฟอร์ pH 1.0 และ 4.5 และถึงแม้ว่าการดูดกลืนแสงของ แอนโทไซยานินจากส่วนของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกจากบัวพันธุ์ฉลองขวัญและสุธาสิโนบลสีน้ำเงิน จะลดลงอย่างมากเมื่อบ่มที่บัฟเฟอร์ pH 4.5 แต่ยังคงมีค่าการดูดกลืนแสงเหลืออยู่และค่าช่วงคลื่นแสงสูงสุด (λmax) เลื่อนค่าความยาวคลื่นออกไปที่ความยาวคลื่นที่สูงขึ้น (เรียกว่า bathochromic effect) และพบ λmax เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ค่า บัวพันธุ์เรดแฟลร์มีการสะสมแอนโทไซยานินมากในทุกส่วนเมื่อเปรียบกับบัวพันธุ์อื่น ๆ โดยกลีบดอกเป็นส่วนที่พบปริมาณแอนโทไซยานินมากที่สุดในบัวเกือบทุกพันธุ์ ยกเว้นบัวพันธุ์เรดแฟลร์ที่สะสมแอนโทไซยานินในก้านชูเกสรตัวผู้มากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่ากลีบดอกบัวทั้ง 4 พันธุ์สะสมแอนโทไซยานินที่มาจากอนุพันธ์ของ cyanidin และ delphinidin เป็นหลัก โดยกลีบดอกบัวเรดแฟลร์มีสัดส่วนของ cyanidin มากกว่า delphinidin ตรงกันข้ามกับกลีบดอกบัวสุธาสิโนบลสีชมพูที่พบ delphinidin ในสัดส่วนที่สูงกว่า ส่วนกลีบดอกบัว สุธาสิโนบลสีน้ำเงิน กลีบดอกและใบบัวฉลองขวัญ พบสารหลักชนิดหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ (ประมาณ 70% peak area) แต่ดูดกลืนแสงในช่วง λmax ของแอนโทไซยานินได้และเป็นสารที่มีความเป็นขั้วสูงกว่า delphinidin สำหรับการกระจายตัวของแอนโทไซยานินในบัวเรดแฟลร์พบ cyanidin มีการสะสมในส่วนก้านดอก กลีบเลี้ยง ก้านชูเกสรตัวผู้มากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากใบที่มีการสะสม delphinidin ในสัดส่วนที่สูงกว่า