บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาเครื่องปอกผลหมาก

สุทธิพร เนียมหอม

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 74 หน้า. 2551.

2551

บทคัดย่อ

การพัฒนาเครื่องปอกผลหมาก

งานวิจัยนี้เพื่อที่จะ ก) ศึกษาสมบัติทางกายภาพเชิงกลของผลหมากสงตากแดด และ ข) พัฒนาเครื่องปอกเปลือกหมากแห้ง วิธีการศึกษาประกอบด้วย การหาการกระจายความชื้น มิติ น้ำหนักผลหมาก กับเวลาที่ตากแดด และออกแบบ สร้าง ทดสอบ และประเมินผลเครื่องปอกเปลือกหมากแห้งต้นแบบ  แนวคิดในการออกแบบเครื่องปอกเปลือกคือ การทำให้เกิดแรงเฉือนขึ้นที่เปลือกหมากแห้งด้วยแรงเสียดทานจลน์ที่เกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามจากแรงกดปกติที่กระทำตรงกันข้ามของผลหมาก เครื่องปอกเปลือกหมากแห้งนี้ประกอบด้วย ถังป้อน ชุดปอกเปลือกหมากแห้ง และระบบส่งกำลัง ชุดปอกเปลือกประกอบด้วย ล้อยาง 2 ล้อ วางอยู่บนโครงสร้างเหล็กให้อยู่ใกล้กัน และหมุนตามกัน ด้านใต้ของขอบล้อยางทั้งสองจะมีตะแกรงเหล็กอยู่   การปอกเปลือกเริ่มจากป้อนผลหมากแห้งเข้าไปในถังป้อน ล้อยางจะหมุนดึงผลหมากแห้งเข้าบีบอัดกับตะแกรงเหล็ก  เนื่องจากแรงเสียดทานจลน์ที่แตกต่างกันกระทำกับเปลือกหมากที่จุดสัมผัสระหว่างล้อยางกับผลหมาก และผลหมากกับตะแกรงเหล็ก  จะเกิดแรงเฉือนและแรงบีบทำให้เปลือกหมากแตกในช่วงล้อยางแรก และแรงเหวี่ยงของล้อแรกจะส่งลงมายังล้อยางที่สองที่ออกแบบให้ทำงานเหมือนกันทำการปอกเปลือกอีกครั้งเพื่อให้เปลือกแตกและแยกออกจากเมล็ดโดยสมบูรณ์   ผลการวิจัยพบว่า ก)  ความชื้น มิติ และน้ำหนักผลหมากลดลงกับระยะเวลาตากแดด  ซึ่งอธิบายได้ด้วยแบบจำลองรีเกรสชั่น แรงกดแตกของผลหมากและเมล็ดหมากเพิ่มขึ้นกับระยะเวลาตากแดด ข)  สภาวะการทำงานที่เหมาะสมของเครื่องคือ ใช้แรงดัน  138 กิโลพาสกาล รอบหมุนของล้อยาง 440  รอบต่อนาที และช่องว่างระหว่างตะแกรงกับล้อยาง 15 มิลลิเมตร  ค) สภาวะของผลหมากแห้งที่เหมาะสมในการปอกเปลือกคือ มีความชื้น 6.31% มาตรฐานเปียก  สมรรถนะการทำงานของเครื่องต้นแบบที่ได้กำหนดตามปัจจัยที่กล่าวแล้ว สามารถปอกเปลือกผลหมากแห้งแบบคละขนาดได้เมล็ดหมากเต็ม 64.4% มีเมล็ดหมากแตก 15.2% และผลหมากแห้งที่ปอกไม่ออก 20.5%  ที่ประสิทธิภาพการผลิต 76.9%.