บทคัดย่องานวิจัย

ผลของวิธีการเพาะปลูกและการใช้ปุ๋ย ต่อคุณภาพและผลผลิตข้าวจาโปนิกา

สุวรรณา บุญญาวงษ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 86 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของวิธีการเพาะปลูกและการใช้ปุ๋ย ต่อคุณภาพและผลผลิตข้าวจาโปนิกา

การเตรียมดินในการศึกษานี้แบบวิธีการลดการไถพรวน (Minimum tillage, MT) เป็นการพรวนดินเพียงหนึ่งครั้ง ร่วมกับการลดระดับความลึกของการไถ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้คันไถแบบปกติ  MT สามารถปฏิบัติได้กับการปลูกข้าว ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ประหยัด ลดแรงงาน จะลดค่าใช้จ่าย ในการผลิตข้าว ในช่วงปีพ.ศ.  2537-2549ได้มีการศึกษาผลของการเตรียมดินแบบลดการไถ เปรียบเทียบกับการเตรียมดินแบบปกติ (Conventional tillage, CT) โดยในปีพ.ศ. 2546การทดลองแบ่งสองแปลงนาข้าวเป็นสี่แปลงย่อย มีการเตรียมดินด้วยวิธีต่างๆกัน คือ  เตรียมดินแบบปกติต่อเนื่อง 12ปี (CTCT) เตรียมดินแบบลดการไถต่อเนื่อง 12ปี (MTMT) เตรียมดินแบบปกติต่อเนื่อง 9ปี และเปลี่ยนการเตรียมดินแบบลดการไถต่อเนื่อง 3ปี  (CTMT) และเตรียมดินลดการไถต่อเนื่อง 9ปี และเปลี่ยนการเตรียมดินแบบปกติ 3ปี  ในปีพ.ศ. 2549ได้ทำการประเมินผลวิธีการเพาะปลูกทีมีผลต่อคุณภาพ และผลผลิตของข้าว พบว่า MTMT ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิต และคุณภาพข้าว เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงควบคุม (CTCT) ทั้งๆที่ระดับพื้นดินในนาข้าวไม่ราบเรียบ นอกจากนี้ผลผลิตจากแปลง MTMT มีคุณภาพการรับประทานจากการประเมินรสชาติทางประสาทสัมผัสโดยผู้ทดสอบที่ไม่ได้รับการฝึกฝน และคะแนน palatability ที่วัดโดยเครื่อง palatability machine มีค่าสูงที่สุด จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการพรวนดินแบบ MT สามารถกระทำได้ต่อเนื่องมาถึง 12ปี และสามารถกระทำต่อไปได้อีกโดยไม่ต้องเปลี่ยนระบบการพรวนดินเป็นแบบ CT  แต่การเปลี่ยนแปลงระบบการพรวนดินของแปลงแบบ CTMT และ MTCT ให้ผลดีกว่าการพรวนดินแบบต่อเนื่อง  เพราะมีผลผลิตข้าวมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

การศึกษาผลของปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่มีต่อการเจริญเติบโต คุณภาพ และผลผลิตของข้าว  แปลงทดลองมีสิบสองแปลงที่ใส่ปริมาณปุ๋ยที่แตกต่างกัน คือ แปลงที่ไม่ใส่ปุ๋ย (0) แปลงที่ไม่ใส่ไนโตรเจน (-N) แปลงที่ไม่ใส่ฟอสฟอรัส (-P) แปลงที่ไม่ใส่โพแทสเซียม (-K)  และปุ๋ยอินทรีย์ (NPK+M) แปลงที่ใส่เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ (M) แปลงที่ใส่ไนโตรเจนสองเท่า (2N) แปลงที่ใส่ฟอสฟอรัสสองเท่า (2P) แปลงที่ใส่โพแทสเซียมสองเท่า (2K) แปลงที่ใส่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมสองเท่า (2N2P2K) และแปลงที่ใส่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแคลเซียมซาลิซิเลต (NPK+Si) เปรียบเทียบกับแปลงควบคุมที่ใส่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม (NPK)  จากผลทดลองพบว่าในแปลงที่เพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักชนิดใดชนิดในปริมาณหนึ่งในปริมาณสองเท่า (2N หรือ 2P หรือ  2K)  ส่งเสริมการเจริญเติบโต และผลผลิตของข้าว และเมื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักทั้งสามชนิดในปริมาณสองเท่า (2N2P2K)  พบว่าข้าวมีการเจริญเติบโตสูงที่สุด และยังคงคุณภาพข้าวที่ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่แปลงที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แปลงที่ไม่ได้ใส่ฟอสฟอรัส และแปลงที่ใส่แต่สารอินทรีย์ (manure) มีการเจริญเติบโต คุณภาพ และผลผลิตของข้าวต่ำ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าธาตุอาหารหลักทั้งสามชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัสมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต คุณภาพ และผลผลิตของข้าว เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพการรับประทานพบว่า แปลงที่ใส่โพแทสเซียมสองเท่า (2K) และ แปลงใส่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมสองเท่า (2N2P2K) ทำให้คุณภาพการรับประทานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการประเมินรสชาติทางประสาทสัมผัสโดยผู้ทดสอบที่ไม่ได้รับการฝึกฝน และแปลงที่ไม่ได้ใส่โพแทสเซียม (-K) มีคะแนน palatability ที่วัดโดยเครื่อง palatability machine มีค่าสูงที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ