บทคัดย่องานวิจัย

ผลของ osmopriming และ scarification ต่อการกระตุ้นการงอกของ เมล็ดพันธุ์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn.

เดือนเต็ม ลอยมา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 77 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของ osmopriming และ scarification ต่อการกระตุ้นการงอกของ เมล็ดพันธุ์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn.

การศึกษาผลของการกระตุ้นการงอกของเมล็ด Benincasa hispida (Thunb.) Cogn. พันธุ์แฟงและฟักเขียวที่พักตัวด้วยวิธี osmopriming และ scarification พบว่า การ osmopriming เมล็ดพันธุ์แฟงในสารละลาย sorbitol และ mannitol ที่ความเข้มข้น 0.25 0.5 และ 1 M และน้ำกลั่น (hydropriming) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีความงอก (31.33-45.33 เปอร์เซ็นต์) สูงกว่าชุดควบคุมที่มีความงอก 23 เปอร์เซ็นต์อย่างมีนัยสำคัญ  และการใช้สารละลาย sorbitol ที่ความเข้มข้น 0.25 M มีความงอกและค่าดัชนีการงอกสูงสุด 45.33 เปอร์เซ็นต์และ 3.17 ตามลำดับ ส่วนเมล็ดที่ osmopriming ในสารละลายไคโตซานที่ความเข้มข้น 0.4 0.8 และ 1.6 เปอร์เซ็นต์และน้ำกลั่น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบว่า ที่ความเข้มข้น 0.8 เปอร์เซ็นต์ มีความงอกและค่าดัชนีการงอกสูงสุด 32.67 เปอร์เซ็นต์ และ 2.75 ตามลำดับ การทำ scarification เมล็ดพันธุ์แฟงและฟักเขียวด้วยการแกะเปลือก และแกะเปลือก+ลอกเยื่อหุ้มคัพภะของเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การแทงราก 96.00 และ 99.50 เปอร์เซ็นต์ในเมล็ดพันธุ์แฟง และ 93.00 และ 95.50 เปอร์เซ็นต์เมล็ดพันธุ์ฟักเขียวตามลำดับ สูงกว่าเมล็ดที่ไม่ทำ scarification (เมล็ดพันธุ์แฟง 83.00 และฟักเขียว 80.00 เปอร์เซ็นต์) อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ฟักเขียวที่ทำ scarification ด้วยการตัดเปลือกที่ปลายเมล็ด  แกะเปลือก+ลอกเยื่อหุ้มคัพภะ แกะเปลือก และไม่ทำ scarification แล้วนำมาเพาะเป็นเวลา 40 ชั่วโมง และเพาะจนกระทั่งเมล็ดแทงรากพบว่า เมล็ดที่ทำ scarification ทุกวิธี มีกิจกรรมของ amylase ปริมาณ reducing sugar และกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นมากกว่าเมล็ดที่ไม่ทำ scarification และเมล็ดที่เพาะเป็นเวลา 40 ชั่วโมง มีกิจกรรมของ amylase ปริมาณ reducing sugar และกรดไขมันอิสระต่ำกว่าเมล็ดที่แทงราก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ฟักเขียวที่ตัดเปลือกที่ปลายเมล็ด แล้วนำมาเพาะให้แทงรากมีกิจกรรมของ amylase และปริมาณกรดไขมันอิสระสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญกับเมล็ดที่แกะเปลือก+ลอกเยื่อหุ้มคัพภะ แกะเปลือก และเมล็ดที่ไม่ทำ scarification ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการตัดเปลือกที่ปลายเมล็ดแล้วนำไปเพาะพบการเข้าทำลายของเชื้อรามากกว่าเมล็ดในทรีตเมนต์อื่น ๆ ส่วนปริมาณ reducing sugar ของเมล็ดที่แกะเปลือกมีปริมาณสูงกว่าทรีตเมนต์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ