บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาชนิด คุณสมบัติและความเสถียรของแอนโทไซยานิน ของดอกกล้วยไม้พันธุ์แท้ 5 สายพันธุ์ในเผ่า VANDEAE Lindley

นิตยา จันกา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 73 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การศึกษาชนิด คุณสมบัติและความเสถียรของแอนโทไซยานิน ของดอกกล้วยไม้พันธุ์แท้ 5 สายพันธุ์ในเผ่า VANDEAE Lindley

ประเทศไทย เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของกล้วยไม้ โดยเป็นแหล่งกำเนิดและผลิตกล้วยไม้ทั้งพันธุ์แท้ (wild-types) และพันธุ์ลูกผสม (hybrids) ที่สำคัญของโลก และสีสรรของดอกเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในตลาดการค้าของดอกกล้วยไม้ ในงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาและทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดแอนโทไซยานินจากดอกกล้วยไม้พันธุ์แท้ในเผ่า VANDEAE Lindley จำนวน 5 สายพันธุ์คือพันธุ์กุหลาบมาลัยแดง (Aerides multiflora Roxb.) กุหลาบน่าน (Aerides rosea Lodd. ex Lindl. & Paxton) ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa (L.) Blume) เอื้องโมก (Papilionanthe teres (Roxb.) Lindl.) ซึ่งมีกลีบดอกอยู่ในช่วงสีแดง-ม่วง และฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea Griff. ex Lindl.) ซึ่งกลีบดอกมีสีฟ้าอ่อน และการศึกษาพบว่าดอกกล้วยไม้ที่มีกลีบดอกอยู่ในโทนสีแดงพบแอนโทไซยานิดินชนิดไซยานินเป็นหลัก แต่กุหลาบมาลัยแดงพบไซยานิดิน (ร้อยละ 96.13) และพีลาร์โกนิดิน (ร้อยละ 3.87) และฟ้ามุ่ยพบแอนโท-ไซยานิดินอยู่ 2 ชนิด คือไซยานิดิน (ร้อยละ 52.43) และเดลฟินิดิน (ร้อยละ 47.57) โดยสารสกัดแอนโท-ไซยานินจากกล้วยไม้ทุกพันธุ์ที่ศึกษาแสดงรูปแบบการดูดกลืนแสงในช่วงคลื่น 320-700 นาโนเมตร ที่ไม่เหมือนกับแอนโทไซยานินที่พบได้โดยทั่วไป (typical anthocyanins) คือเมื่อทำการปรับพีเอชของสารสกัดให้ได้ 4.5 จะแสดงรูปแบบเหมือนกับแอนโทไซยานินที่มีกรดอินทรีย์มาเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก (polyacylated anthocyanins) ซึ่งการเชื่อมต่อของกรดนี้มีผลต่อความเสถียรของโมเลกุลแอนโทไซยานิน โดยบัฟเฟอร์พีเอช 1 เหมาะสมสำหรับใช้ในการเก็บรักษาสารสกัดแอนโทไซยานินในระยะยาว ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของค่าสีและค่าดูดกลืนแสงของสารสกัดแอนโทไซยานินน้อยที่สุด ส่วนการเก็บรักษาในบัฟเฟอร์ที่พีเอช 9 ทำให้ค่าการดูดกลืนแสงของสารสกัดหายไปและทำให้ค่าสี b ของสารสกัดเปลี่ยนแปลงมากกว่าชุดทดลองที่พีเอชอื่น ๆ หลังจากเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นาน 14 วัน และการเปลี่ยนแปลงพีเอชของสารสกัดแอนโทไซยานินทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของช่วงความยาวคลื่นที่เหมาะสมออกไป และอาจเกิดยอดของการดูดกลืนแสงของแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งยอด นอกจากนี้อุณหภูมิและแสงก็มีผลต่อความเสถียรของสารสกัดจากดอกกล้วยไม้ โดยสารสกัดแอนโทไซ-ยานินจากดอกกล้วยไม้ที่ผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส จะมีผลทำให้ค่าการดูดกลืนแสงเพิ่มขึ้นมากกว่าชุดทดลองที่ไม่ได้ให้ความร้อน และแสงมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงค่าสีและค่าดูดกลืนแสงในกล้วยไม้พันธุ์ไอยเรศ แต่มีผลน้อยกว่าปัจจัยทางด้านอุณหภูมิในพันธุ์เอื้องโมกและฟ้ามุ่ย