บทคัดย่องานวิจัย

การทำแห้งใบมะกรูดโดยเครื่องทำแห้งแบบลมร้อนและเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบ

วิชญวดี ศรีนุเคราะห์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการอาหาร) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 108 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การทำแห้งใบมะกรูดโดยเครื่องทำแห้งแบบลมร้อนและเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบ

การศึกษาความแก่-อ่อนของใบมะกรูด (Citrus hystrix DC.) สามารถจัดกลุ่มโดยตรวจสอบความหนา ปริมาณความชื้น ค่าสี ปริมาณน้ำมันและปริมาณสารซิโทรเนลลาล สามารถแบ่งออกเป็น  4 กลุ่ม โดยใช้ความหนาและค่าสีเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ 1 2 3 และ 4 มีความหนา 0.23 0.31 0.33 และ 0.35 มิลลิเมตร ตามลำดับ ค่ามุมของสีเท่ากับ -19.25 -26.47 -28.85 และ -28.77 องศา ตามลำดับ ความชื้นร้อยละ 74.15 65.32 58.21 และ 53.39 ตามลำดับ ปริมาณน้ำมันร้อยละ 0.22 0.31 0.34 และ 0.49 ตามลำดับ ปริมาณสารซิโทรเนลลาล 429.76 529.68 354.00 และ 236.95 มิลลิกรัม/100 กรัมของน้ำหนักใบมะกรูดสด ตามลำดับ ดังนั้นจึงได้เลือกใบมะกรูดในกลุ่มที่ 2 มาใช้ในการทดลอง เนื่องจากจัดเป็นกลุ่มที่มีสารซิโทรเนลลาลที่มีปริมาณมากที่สุด การศึกษาดีซอร์พชันไอโซเทิร์มของใบมะกรูดที่อุณหภูมิ 20.0 34.9 และ 49.7 องศาเซลเซียส เพื่อสร้างแบบจำลองของดีซอร์พชันไอโซเทิร์ม โดยใช้แบบจำลอง Modified Henderson, Modified Oswin, Modified Chung-Pfost และ Modified Halsey พบว่า แบบจำลอง Modified Halsey สามารถอธิบายดีซอร์พชันไอโซเทิร์มของใบมะกรูดได้ดีที่สุดทั้งในรูปฟังก์ชัน Xe= f(RHe,T) และ RHe= f(Xe,T) การศึกษาการทำแห้งใบมะกรูดโดยการใช้เครื่องทำแห้งแบบลมร้อนและเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบ ที่อุณหภูมิ 40 50 และ 60 องศาเซลเซียส โดยใช้แบบจำลอง Newton, Henderson and Perry,  Modified Page และ Zero พบว่า แบบจำลอง Modified Page สามารถทำนายการทำแห้งของใบมะกรูดได้ดีที่สุดทั้งเครื่องทำแห้งแบบถาดและเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบ ค่าคงที่การทำแห้ง (K) มีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิตามแบบจำลอง Arrhenius และค่าคงที่ n (Drying exponent) มีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิและปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในการทำแห้งแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล เมื่อนำใบมะกรูดที่ผ่านการทำแห้งที่สภาวะต่างๆ มาศึกษาสมบัติทางเคมีและกายภาพ พบว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนการทำแห้งมีค่า 2.55 ชนิดของเครื่องทำแห้งและอุณหภูมิในการทำแห้งมีผลต่อค่าอัตราส่วนการดูดน้ำกลับคืน ค่าความแตกต่างของสีรวมและปริมาณสารซิโทรเนลลาล โดยพบว่า การทำแห้งที่อุณหภูมิ 50 และ 60 องศาเซลเซียส โดยเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบมีผลทำให้ค่าอัตราส่วนการดูดน้ำกลับคืนมีค่ามากกว่าการทำแห้งโดยเครื่องทำแห้งแบบลมร้อน การทำแห้งทีอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสโดยเครื่องทำแห้งแบบลดความชื้นโดยใช้เครื่องสูบมีผลทำให้ค่าความแตกต่างของสีรวมของใบมะกรูดต่ำสุด และมีปริมาณสารซิโทรเนลลาลเหลือมากที่สุดคือ 533.41 มิลลิกรัม/100 กรัมของน้ำหนักใบมะกรูดแห้ง