บทคัดย่องานวิจัย

การใช้รำข้าวเหนียว (กข 6) หรือรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ร่วมกับอัลฟา–โทโคเฟอริว อะซิเตรท ต่อการเจริญเติบโต คุณภาพซากและคุณภาพเนื้อของไก่เนื้อ

วันชนะ พิชวงค์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สัตวศาสตร์) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 105 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การใช้รำข้าวเหนียว (กข 6) หรือรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ร่วมกับอัลฟา–โทโคเฟอริว อะซิเตรท ต่อการเจริญเติบโต คุณภาพซากและคุณภาพเนื้อของไก่เนื้อ

ศึกษาการใช้รำข้าวเหนียว (กข 6) เปรียบเทียบกับรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ร่วมกับ อัลฟา-โทโคเฟอริว อะซิเตรท ในสูตรอาหารไก่เนื้อต่อคุณภาพอาหารไก่เนื้อ การเจริญเติบโต  คุณภาพซาก คุณภาพเนื้อ และลักษณะปรากฏ โดยทำการเสริมรำข้าวชนิดละ 4ระดับคือ  4, 8, 12และ 16%ในสูตรอาหารและกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการเสริมรำข้าว ใช้ไก่เนื้ออายุ 1วันจำนวน 9กลุ่มๆ ละ 5คอก (ซ้ำ) คอกละ 20ตัวรวม 900ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomize Design, CRD) ให้อาหารและน้ำอย่างเต็มที่ ทำการทดลองนาน 42วัน เมื่อครบกำหนดแล้วทำการสุ่มไก่คอกละ 4ตัวเพื่อทำการฆ่าชำแหละซาก ผลการทดลองพบว่าอาหารที่มีการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดเกิดการหืนไม่แตกต่างกัน (P>0.05) แต่การเสริมสามารถเพิ่มปริมาณของ อัลฟา-โทโคเฟอรอล ได้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าวและเพิ่มขึ้นตามระดับการเสริมรำข้าว นอกจากนี้การเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดช่วยชะลอการเกิดการหืนในเนื้ออกและน่องได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว โดยเฉพาะที่ระยะเวลาการเก็บรักษา 5, 10และ15วัน (P<0.01) การเสริมรำข้าวหอมมะลิ ที่ระดับ 12และ 16%ร่วมกับ อัลฟา-โทโคเฟอริว อะซิเตรท มีค่าการหืนน้อยที่สุด แต่เมื่อระยะเวลาการเก็บเพิ่มขึ้นคือ 20และ 25วัน เนื้ออกจากทุกกลุ่มการทดลองมีค่าการหืนไม่แตกต่างกัน (P>0.05) แต่พบว่าการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดในระดับสูงคือ 12และ 16%ในสูตรอาหารช่วยชะลอการหืนในเนื้อน่องได้ดีกว่าระดับอื่นๆและสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01) การเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แม้ว่าปริมาณการกินอาหารของไก่ช่วง 0ถึง 3สัปดาห์ในกลุ่มที่เสริมรำข้าวทั้งสองชนิดสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เสริมรำข้าวก็ตาม (P>0.05) ด้านองค์ประกอบซากนั้นพบว่าไก่เนื้อมีขนาดของกึ๋นเพิ่มขึ้นตามระดับการเสริมรำข้าว (P<0.01)   เนื้อไก่จากกลุ่มที่มีการเสริมรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ที่ระดับ 4%มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของเนื้อลดลงน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01)  ค่าความเหลืองของเนื้ออกที่ได้รับการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดมีค่าต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริมรำข้าว (P<0.01)  ค่าการสูญเสียน้ำ (Drip loss)  ของเนื้อนั้นพบว่า เนื้อน่องของกลุ่มที่ได้รับเสริมรำข้าวเหนียว (กข 6) ที่ระดับ 4%มีการสูญเสียน้ำสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เสริมรำข้าว   การยอมรับของผู้บริโภค (สี, กลิ่นรส, รสชาติ, เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวม) ไม่แตกต่างกัน (P>0.05) ระหว่างกลุ่มการทดลอง

จากการทดลองสรุปได้ว่าการเสริมรำข้าวทั้งสองชนิดนั้น แม้ไม่มีผลที่ชัดเจนต่ออัตราการเจริญเติบโต คุณภาพซาก คุณภาพและลักษณะปรากฏของเนื้อ รวมทั้งการยอมรับด้านคุณภาพในการบริโภคของเนื้อไก่ แต่การเสริมสามารถเพิ่มปริมาณของ อัลฟา-โทโคเฟอรอล ในอาหารได้ โดยเฉพาะการเสริมรำข้าวจ้าว (หอมมะลิ 105) ที่ระดับ 12 และ 16% ร่วมกับ อัลฟา-โท    โคเฟอริว อะซิเตรท ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณของอัลฟา-โทโคเฟอรอลได้มากกว่ากลุ่มอื่น ส่งผลให้สามารถป้องกันการเกิดการหืนในเนื้ออกและน่องได้ดีกว่ากลุ่มอื่น