บทคัดย่องานวิจัย

ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารในพืชสกุล Cleome spp. ต่อแมลงศัตรูข้าวและศัตรูธรรมชาติบางชนิด

สังวาล สมบูรณ์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (กีฏวิทยา) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 72 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารในพืชสกุล Cleome spp. ต่อแมลงศัตรูข้าวและศัตรูธรรมชาติบางชนิด

ได้ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพในสภาพห้องปฏิบัติการของสารสกัดจากพืช 3ชนิดในสกุลผักเสี้ยน (Cleome spp.) ได้แก่ ผักเสี้ยนบ้าน (Cleome gynandra (L.) Briq.) ผักเสี้ยนป่า (Cleome chelidonii L.) และผักเสี้ยนผี (Cleome viscosa L.) ต่อแมลงศัตรูข้าว 3ชนิด คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Nilaparvata lugen Stål) แมลงศัตรูที่ทำลายต้นข้าวขณะอยู่ในนา  ด้วงงวงข้าว (Sitophilus oryzae L.) แมลงศัตรูที่ทำลายเมล็ดข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และมอดสยาม (Lophocateres pusillus (Klug)) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในธุรกิจส่งออกข้าว และได้ประเมินความเป็นพิษกับมวนตัวห้ำไข่แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2ชนิด คือ Cyrtorhinus lividipennis Reuter และ Tytthus chinensis Stål จากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากผักเสี้ยนทั้ง 3ชนิด มีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าแมลงในลักษณะพิษสัมผัสตาย และมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของแมลงศัตรูข้าว โดยที่สารสกัดจากผักเสี้ยนผีมีศักยภาพสูงกว่าสารสกัดจากผักเสี้ยนบ้าน และผักเสี้ยนป่า ตัวทำละลายที่มีศักยภาพสูงในการสกัดคือ เมทานอล  ส่วนการประเมินความเป็นพิษต่อศัตรูธรรมชาติ พบว่า สารสกัดเมทานอลจากผักเสี้ยนผีมีพิษในลักษณะสัมผัสตายระดับปานกลาง แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการห้ำของมวนตัวห้ำไข่

ส่วนประกอบของสารสกัดเมทานอลจากผักเสี้ยนผี 4ส่วนที่ได้จากการแยกด้วยเทคนิคคอลัมน์โครมาโทกราฟี เมื่อนำมาประเมินผลทางชีวภาพกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบว่ามีประสิทธิภาพต่ำกว่าสารสกัดหยาบ จากการตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีของส่วนประกอบย่อยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พบว่า เป็นเกลือของคลอไรด์

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพืชสกุลผักเสี้ยนที่เป็นพืชท้องถิ่นและพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะผักเสี้ยนผี มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสารป้องกันกำจัดแมลงได้ แต่ในการนำไปใช้ประโยชน์หรือทำสูตรผสมสำเร็จรูป ควรคำนึงถึงการใช้สารสกัดรวม/หรือสารสกัดหลายรูปแบบผสมกัน ทั้งนี้เนื่องจากการแยกสารสกัดพบแนวโน้มทำให้ประสิทธิภาพลดลง

นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาข้อมูลชีววิทยาของมอดสยามโดยใช้ตารางชีวิต ซึ่งเป็นครั้งแรก พบว่า ที่สภาพอุณหภูมิ 25+2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์ มอดสยามใช้เวลาในการเจริญเติบโต 1 ชั่วอายุขัยเฉลี่ย 159.6 วัน มีอัตราการขยายพันธุ์สุทธิ (Ro) เท่ากับ 29.508  และมีความสามารถในการเพิ่มประชากร (rm) เท่ากับ 0.185