บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบและพัฒนากลไกหักขั้วข้าวโพดฝักอ่อน

ธิติพงศ์ โพธิสุทธิ์

วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมการอาหาร) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 103 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การออกแบบและพัฒนากลไกหักขั้วข้าวโพดฝักอ่อน

การออกแบบและพัฒนากลไกหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อนำมาใช้กับเครื่องปอกเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนแบบใช้ลูกกลิ้ง เริ่มจากการศึกษาหาความสัมพันธ์ของลักษณะทางกายภาพภายนอกของฝักข้าวโพดทั้งฝักกับความยาวของก้านฝักข้าวโพด เพื่อใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการออกแบบ โดยจากการศึกษาฝักข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ SG17SUPER จำนวน 100ฝัก พบว่า ฝักข้าวโพดฝักอ่อนที่มีความยาวฝักยาวมีแนวโน้มที่จะมีขนาดความยาวก้านฝักยาวด้วย ซึ่งความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างขนาดความยาวตลอดทั้งฝักของฝักข้าวโพดฝักอ่อน (C) กับขนาดความยาวก้านฝักของฝักข้าวโพดฝักอ่อน (A) มีค่า R2 = 0.7919ผลจากความสัมพันธ์แสดงให้เห็นว่า ฝักข้าวโพดฝักอ่อนที่นำมาหักขั้วควรมีการคัดความยาวทั้งฝักก่อน เพื่อให้มีความยาวก้านฝักภายในใกล้เคียงกัน จากการทดสอบการหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อนในลักษณะต่าง ๆ พบว่า การหักขั้วฝักที่ดีที่สุด คือ วิธีนำข้าวโพดฝักอ่อนไปกรีดฝักตลอดแนวความยาวของตัวฝักโดยหงายฝักแล้วจึงนำไปหักขั้วฝัก และระยะตรงขั้วฝักเป็นตำแหน่งการหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อนที่ดีที่สุด ซึ่งคิดเป็น 96เปอร์เซ็นต์

เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบ และสร้างกลไกหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อนซึ่งใช้ตำแหน่งของการหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อนที่ 4.9 เซนติเมตรจากทางขั้วฝัก และนำไปทดสอบระดับการหักขั้วฝักข้าวโพดฝักอ่อนที่มีความชื้นแตกต่างกันตามระยะเวลาที่เก็บรักษา 3 วัน (87.50, 84.75 และ 80.53%) จากนั้นนำค่าที่ได้ไปหาความสัมพันธ์โดยการทดสอบไค-สแควร์ (Chi-square test) พบว่า ระดับการหักขั้วฝักและความชื้นของขั้วฝักมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01โดยมีประสิทธิภาพในการหักขั้วฝักสูงสุดคิดเป็น 89 เปอร์เซ็นต์