บทคัดย่องานวิจัย

บทบาทของออกซินและเอทิลีนต่อการร่วงของดอกกล้วยไม้สกุลหวายหลังการเก็บเกี่ยว

กาญจนา รุ่งรัชกานนท์

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 119 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

บทบาทของออกซินและเอทิลีนต่อการร่วงของดอกกล้วยไม้สกุลหวายหลังการเก็บเกี่ยว

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างออกซินและเอทิลีนต่อการร่วงของดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มิสทีนซึ่งดอกบานไม่ตอบสนองต่อเอทิลีน เพื่อพิสูจน์ว่าออกซินในดอกบานทำให้เนื้อเยื่อบริเวณ abscission zone (AZ) ที่โคนก้านดอกไม่ตอบสนองต่อเอทิลีน โดยใช้สารยับยั้งการทำงานของออกซิน  2-(4-chlorophenoxy)-2-methyl propionic acid (CMPA)  และสารยับยั้งการเคลื่อนที่ของออกซิน 2,3,5-triiodobenzoic acid (TIBA)  หยดลงบนแอ่งเกสรตัวเมียของดอกบานร่วมกับการให้เอทิลีนความเข้มข้น 0.4 พีพีเอ็มหรือไม่ให้เอทิลีน ผลการทดลองพบว่าการให้สารยับยั้งออกซินทั้งสองชนิดทำให้ดอกบานร่วง ขณะที่ดอกที่ได้รับเอทิลีนเพียงอย่างเดียวไม่มีการร่วง  การให้ 1- methylcyclopropene (1-MCP) ความเข้มข้น 500 พีพีบีกับดอกกล้วยไม้ก่อนการได้รับสารยับยั้งออกซิน พบว่าสามารถชะลอหรือยับยั้งการร่วงของดอกบานได้  แสดงว่าการร่วงของดอกบานที่ได้รับสารยับยั้งออกซินนั้นมีสาเหตุเกิดจากเอทิลีน  การกำจัดแหล่งของออกซินโดยการตัดดอกตูมและดอกบานออกทำให้เกิดการร่วงของก้านดอก  เมื่อให้ออกซินจากภายนอกทดแทนหลังจากตัดดอกออกสามารถยับยั้งการร่วงของก้านดอกตูมและก้านดอกบาน  นอกจากดอกที่ควบคุมการร่วงของก้านดอก  ความยาวของก้านดอกยังมีความสำคัญต่อการร่วงของก้านดอกที่เหลืออยู่ด้วย  การมีส่วนของก้านดอกยาวมากสามารถยับยั้งการร่วงได้ดีกว่าการมีส่วนของก้านดอกสั้น  จากการทดลองครั้งนี้สนับสนุนว่าออกซินในดอกหรือในก้านดอกมีส่วนทำให้เนื้อเยื่อบริเวณ AZ ที่โคนก้านดอกไม่ตอบสนองต่อเอทิลีน  การศึกษาทางกายวิภาคของเซลล์บริเวณ AZ ของดอกบานกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มิสทีน พบว่า AZ ประกอบด้วยเซลล์ขนาดเล็กรูปร่างกลมหรือเหลี่ยม เรียงตัว 2-3 แถว  กระบวนการร่วงเกิดขึ้นระหว่างชั้นเซลล์ขนาดเล็ก 2 ชั้นนี้   การร่วงของดอกบานมีกิจกรรมของเอนไซม์ b-1,4-glucanase (cellulase) ใน AZ ของโคนก้านดอกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนการร่วงในดอกบานที่ได้รับสารยับยั้งออกซินและมีการร่วง  ส่วนกิจกรรมของเอนไซม์ polygalacturonase เกิดขึ้นขณะที่ดอกบานกำลังร่วง  การแสดงออกของยีน b-1,4-glucanase (Den-Cel) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกิจกรรมของเอนไซม์  b-1,4-glucanase โดยมีการสะสม mRNA ของยีน Den-Cel มากใน AZ ของดอกบานที่ได้รับสารยับยั้งออกซินและมีการร่วง