บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบผิวพอลิเอทิลีนและแคนเดลิลลาแวกซ์ไมโครอิมัลชันต่อผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งระหว่างการเก็บรักษา

วรวลัญช์ รุ่งเรืองศรี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 161 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบผิวพอลิเอทิลีนและแคนเดลิลลาแวกซ์ไมโครอิมัลชันต่อผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งระหว่างการเก็บรักษา

ผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิวไมโครอิมัลชันที่เตรียมในห้องทดลอง   4 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยพอลิเอทิลีนแวกซ์ผสมกับแคนเดลิลลาแวกซ์ในอัตราส่วน 100:0, 75:25, 60:40 และ 0:100 (100% PE, 75% PE, 60% PE และ 0% PE) เปรียบเทียบกับสารเคลือบผิวทางการค้า 2 ชนิด ได้แก่CITROSOL-AK และ ZIVDAR โดยใช้ผลส้มที่ล้างน้ำและไม่ได้เคลือบผิวเป็นชุดควบคุม บรรจุผลส้มทุกชุดทดลองในตะกร้าพลาสติกและเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 87±2 เปอร์เซ็นต์ ผลการทดลองพบว่าการเคลือบผิวผลส้มด้วยสารเคลือบผิว 60% PE ให้ผลดีที่สุดคือ สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือกผลส้มได้สามารถลดการสูญเสียน้ำหนัก ทำให้เปลือกผลส้มมีปริมาณความชื้นสูง ภายในผลส้มมีปริมาณแก๊สออกซิเจนสูงและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และมีปริมาณเอทานอลในน้ำคั้นต่ำ จึงสามารถรักษากลิ่นและรสชาติที่ดีของผลส้มได้นาน 21 วัน นอกจากนี้ สารเคลือบผิว 60% PE ยังให้ความมันวาวแก่เปลือกผลส้มและทำให้ผลส้มมีลักษณะปรากฏที่ดี ชนิดของสารเคลือบผิวไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้ ค่าพีเอช ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ อัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้ และปริมาณวิตามินซี แต่เมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้น ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้และปริมาณวิตามินซีลดลง ในขณะที่ค่า  พีเอช ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และอัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้เพิ่มขึ้น ผลการวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซีโดยใช้เครื่อง HPLC ได้ค่ามากกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีไทเทรชันประมาณ 5-9 เปอร์เซ็นต์

เมื่อนำสารเคลือบผิว 60% PE ที่ให้ผลดีที่สุดมาเคลือบผิวผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5±2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 79±2 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับ       ผลส้มที่ล้างน้ำและไม่ได้เคลือบผิวเป็นชุดควบคุม พบว่าผลส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิว 60% PE มีการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือกผลส้มช้ากว่า สูญเสียน้ำหนักน้อยกว่า และมีปริมาณความชื้นของเปลือกสูงกว่าผลส้มที่ไม่ได้เคลือบผิว ผลส้มที่เคลือบผิวด้วย 60% PE มีปริมาณแก๊สออกซิเจนภายในผลต่ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูง และมีปริมาณเอทานอลในน้ำคั้นสูงกว่าผลส้มที่ไม่ได้เคลือบผิวประมาณ 2 เท่า และรักษากลิ่นและรสชาติที่ดีได้ประมาณ 29 วัน โดยที่เปลือกผลส้มยังมีความมันวาว และมีลักษณะปรากฏที่ดี ส่วนผลส้มที่ไม่ได้เคลือบผิวแสดงอาการเปลือกเหี่ยวบริเวณรอบๆ ขั้วและมีลักษณะปรากฏไม่เป็นที่ยอมรับภายหลังการเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 22 วัน ผลส้มที่เคลือบผิวมีปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้ ค่าพีเอช ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ อัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้ และปริมาณวิตามินซีไม่แตกต่างกับผลส้มที่ไม่ได้เคลือบผิว แต่เมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้น ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้และปริมาณวิตามินซีลดลง ในขณะที่ค่าพีเอช ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และอัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดทั้งหมดที่ไทเทรตได้เพิ่มขึ้น