บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยของอุณหภูมิอบแห้งของเครื่องฟลูอิไดซ์เบดที่มีผลต่อสมบัติทางกายภาพข้าวและการชิมของข้าวสุก

สุภวรรณ ฏิระวณิชย์กุล สมเกียรติ ปรัชญาวรากร พัชรี ตั้งตระกูล วารุณี วารัญญานนท์ และสมชาติ โสภณรณฤทธิ์

การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2546, วิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน วันที่ 13-14 มีนาคม 2546. ณ เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ. เลขหน้า 306. (666 หน้า)

2546

บทคัดย่อ

ปัจจัยของอุณหภูมิอบแห้งของเครื่องฟลูอิไดซ์เบดที่มีผลต่อสมบัติทางกายภาพข้าวและการชิมของข้าวสุก งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงปัจจัยของอุณหภูมิของการอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบดที่มีผลต่อสมบัติทางกายภาพของข้าวเจ้าในเทอมของร้อยละของต้นข้าว, ความขาวและค่าความแข็ง ข้าวเปลือกเมล็ดยาวสายพันธุ์อินดิกาที่ใช้ในการทดสอบมีสองชนิดได้แก่ ข้าวสุพรรณบุรี 1 ที่มีปริมาณแอมิโลสสูงและข้าวปทุมธานี 1 ที่มีปริมาณแอมิโลสสูงต่ำอยู่ในช่วงร้อยละ 27 และร้อยละ 14-17.8 ตามลำดับ โดยทดลองที่อัตราการไหลของอากาศผ่านเบดมีค่าเท่ากับ 2.5 เมตร/วินาที ที่ความสูงเบด 0.095 เมตร ความชื้นเริ่มต้นของข้าวเปลือกอยู่ในช่วงร้อยละ 25.6-33 มาตรฐานแห้ง อุณหภูมิในช่วงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียส ถึง 150 องศาเซลเซียส ค่าความชื้นสุดท้ายหลังอบแห้งร้อยละ 22.0+1.5 มาตรฐานแห้ง หลังการอบแห้งข้าวเปลือกนำไปเก็บไว้ที่อับอากาศครึ่งชั่วโมง แล้วจึงเป่าเย็นด้วยอากาศแวดล้อมจนความชื้นสุดท้ายมีค่าร้อยละ 16 มาตรฐานแห้ง จากผลการทดลองพบว่า ค่าความขาวและร้อยละต้นข้าวที่อบแห้งด้วยอุณหภูมิต่ำกว่า 90 องศาเซลเซียส ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับข้าวอ้างอิง ขณะที่ข้าวที่อบแห้งด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีค่าร้อยละต้นข้าวเพิ่มขึ้นและค่าความขาวลดลงเล็กน้อย และจากผลการทดสอบทางด้วยวิธีการวิเคราะห์ประสาทสัมผัส พบว่า ค่าความแข็งของข้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญทุกช่วงอุณหภูมิที่ใช้อบแห้ง ถ้าความชื้นของข้าวเปลือกหลังการอบแห้งมีค่าประมาณร้อยละ 22 มาตรฐานแห้ง สรุปได้ว่า อุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้งไม่ทำให้สมบัติเฉพาะทางกายภาพส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงยกเว้นค่าความขาวของข้าวเมื่ออบแห้งด้วยอุณหภูมิสูง และจากการทดสอบการชิมของข้าวสุกพบว่า มีค่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวอ้างอิง (p<0.05)