บทคัดย่องานวิจัย

การเปรียบเทียบการอบแห้งข้าวเปลือกต้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบดโดยใช้อากาศร้อนและไอน้ำร้อนยวดยิ่ง

วทัญญู รอดประพัฒน์ อดิศักดิ์ นาถกรณกุล วารุณี เตีย และสมชาติ โสภณรณฤทธิ์

การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4. วิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน วันที่ 13-14 มีนาคม 2546. ณ เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. หน้า 278. (666 หน้า)

2546

บทคัดย่อ

การเปรียบเทียบการอบแห้งข้าวเปลือกต้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบดโดยใช้อากาศร้อนและไอน้ำร้อนยวดยิ่ง  งานวิจัยนี้ศึกษาเปรียบเทียบการอบแห้งข้าวเปลือกด้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบดโดยใช้ไอน้ำร้อนยวดยิ่งและอากาศร้อน โดยศึกษาเฉพาะคุณภาพทางด้านกายภาพ เช่น เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ความขาวของข้าวสารและเปอร์เซ็นต์ข้าวท้องไข่ เงื่อนไขที่ใช้ในการทดลองมีดังนี้ แช่ข้าวเปลือกที่อุณหภูมิน้ำเริ่มต้น 80°C เป็นเวลา 3 และ 4 ชั่วโมง อุณหภูมิอบแห้ง 150°C ความสูงเบด 10 cm ความเร็วของอากาศร้อนและไอน้ำร้อนยวดยิ่งเท่ากับ 1.0 และ 1.5 เท่าของความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชัน จากผลการวิจัยพบว่า ในช่วงแรกของการอบแห้งข้าวเปลือกด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งเกิดการควบแน่นของไอน้ำขึ้น ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกมีความชื้นเพิ่มขึ้นและขณะเดียวกันอุณหภูมิของเมล็ดข้าวเปลือกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการอบแห้งด้วยอากาศร้อน ทำให้แป้งำายในเมล็ดข้าวเปลือกมีสภาวะที่เหมาะสมในการเกิดเจลาติไนเซชันมากกว่า ข้าวเปลือกที่ผ่านการอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวที่สูงกว่าข้าวเปลือกที่อบแห้งด้วยอากาศร้อน แต่ความขาวของข้าวสารจะลดลงต่ำกว่าข้าวเปลือกที่อบแห้งด้วยอากาศร้อน ส่วนเปอร์เซ็นต์ข้าวท้องไข่ที่ได้จากการอบแห้งมีแนวโน้มลดลงตามเวลาการอบแห้งที่เพิ่มขึ้น เมื่อเวลาการอบแห้งผ่านไป 2-3 นาที จะได้เปอร์เซ็นต์ข้าวท้องไข่ประมาณ 1-5%