บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคเชิงแสงสำหรับนับผักผลไม้

บัณฑิต จริโมภาส ณัฐชา เปี่ยมคล้า และ อุไร ธีรพิทยานนท์

การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4. วิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน วันที่ 13-14 มีนาคม 2546. ณ เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. หน้า 186. 666 หน้า.

2546

บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคเชิงแสงสำหรับนับผักผลไม้   การศึกษานี้เพื่อที่จะเปรียบเทียบการทำงานของเซนเซอร์เชิงแสงชนิดต่างๆ สำหรับการนับผักผลไม้ วิธีการศึกษาประกอบด้วยการจัดทำวงจรสำหรับการทดลองที่มีเซนเซอร์ 4 ชนิดคือ หลอดไฟที่มีเลนส์รวมแสง, เลเซอร์, infrared, และ fiber optics และการทดลอง 3 เรื่อง ก) การหาความแม่นยำในการตรวจจับวัสดุเกษตร ข) การหาระยะห่างมากที่สุดที่เซนเซอร์สามารถตรวจจับวัสดุได้ ค) การหาการกระเจิงของลำแสง ผลการทดลองปรากฏว่า 1) เซนเซอร์ได้แก่ เลเซอร์, fiber optics, infrared, และหลอดไฟที่มีเลนส์รวมแสง สามารถตรวจจับผลมะนาวได้ครบถ้วนไม่ผิดพลาดที่อัตรา 4.3, 4.07, 4.15 และ 4.26 ลูก/วินาที ตามลำดับ 2) เลเซอร์สามารถตรวจจับวัตถุได้ไกลกว่าเซนเซอร์ตัวอื่นๆ คือ 200 เซนติเมตร โดยต้องให้ตัวรับและตัวส่งแสงตรงกัน 3) ภายในระยะห่าง 8 เซนติเมตรระหว่างวัตถุกับต้นกำเนิดแสงเลเซอร์ไม่มีการกระเจิงแสง (มุมกระเจิงแสง, q = 0) ลำแสงเป็นเส้นตรงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.2 เซนติเมตร และสมมาตรรอบเส้นกึ่งกลางแนวกำเนิดแสง หลอดไฟที่มีเลนส์รวมแสง infrared และ fiber optics ให้ q = 4.3, 5.7 และ 20.6 องศา ตามลำดับ