บทคัดย่องานวิจัย

การตกค้างของยาคลอเตตราซัยคลินในไก่กระทง

วิชัย อรุณกมลศรี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การอาหาร) สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2530. 151 หน้า.

2530

บทคัดย่อ

การตกค้างของยาคลอเตตราซัยคลินในไก่กระทง  ในการศึกษาการตกค้างของยาคลอเตตราซัยคลินในเนื้อเยื่อของไก่กระทงโดยใช้วิธี cylinder plate assay method โดยใช้เชื้อ bacillus cereus var. mycoides (ATCC 11778) เป็นจุลิน ทรีย์ในการตรวจสอบพบว่า สามารถใช้ตรวจระดับการตกค้างของยาในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของไก่กระทง คือ ตับ ไต กึ๋น กล้ามเนื้ออก และกล้ามเนื้อขาได้โดยมีความไวในการตรวจสอบต่ำถึง 0.05 ไมโครกรัมต่อกรัมของเนื้อเยื่อ

ผลจากการใช้ยาคลอเตตราซัยคลินในระดับ 0, 20, 40, 60, 80 และ100 ส่วนในล้านส่วนผสมลงในอาหารเลี้ยงไก่เป็นเวลา 7 สัปดาห์ พบว่าระดับการใช้ยามีผลต่อระดับการตกค้างของยาในอวัยวะส่วนต่างๆของไก่กระทงอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ การใช้ยาในระดับที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดการตกค้างมากขึ้น เมื่อใช้ยาระดับ 20 ส่วนในล้านส่วนจะตรวจพบสารตกค้างได้ในตับและไตในระดับ 0.0594 และ 0.3775 ไมโครกรัมต่อกรัม ตามลำดับ การตกค้างในกึ๋นจะตรวจพบได้เมื่อใช้ยาระดับ 60 ส่วนในล้านส่วนในระดับ 0.1072 ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วนตกค้างในกล้ามเนื้ออกและกล้ามเนื้อขาจะตรวจพบได้เมื่อใช้ยาระดับ 80 ส่วนในล้านส่วนในระดับ 0.1350 และ 0.1592 ไมโครกรัมต่อกรัม ตามลำดับ

จากการทดลองเลี้ยงไก่กระทงโดยใช้ยาคลอเตตราซัยคลินในระดับ 75 ส่วนในล้านส่วนของอาหาร และได้เก็บตัวอย่างทุกๆสัปดาห์เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าระดับยาในอวัยวะแต่ละส่วนได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรกที่ได้รับยา ระดับยาที่ตกค้างในแต่ละช่วงสัปดาห์ของการเจริญเติบโตมีความแตกต่างกันทางสถิติ และระดับการตกค้างของยาในอวัยวะแต่ละส่วนมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ โดยตรวจพบระดับการตกค้างในอวัยวะส่วนต่างๆตามลำดับจากที่สูงไปต่ำ คือ ไต ตับ กึ๋น กล้ามเนื้ออก และกล้ามเนื้อขา สำหรับในเลือดนั้นมาสามารถตรวจพบการตกค้างได้โดยวิธีการที่ใช้ตรวจสอบ ความสัมพันธ์ของระดับการตกค้างของยาในตับ กึ๋น กล้ามเนื้อขา กับระดับการตกค้างของยาในไต และความสัมพันธ์ของระดับการตกค้างของยาในไต กึ๋น กล้ามเนื้ออก และกล้ามเนื้อขากับระดับการตกค้างของยาในตับ มีความสัมพันธ์กันเป็นเส้นตรง

หลังจากที่งดให้อาหารที่มียาคลอเตตราซัยคลินในระดับ 75 ส่วนในล้านส่วน ระดับของยาในเนื้อเยื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระดับของยาในไตจะลดลงได้ถึงร้อยละ 63 ภายในเวลา 1 วัน และตรวจไม่พบยาในวันที่ 7 ระดับของยาในตับและไตจะลดลงจนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตราย (0.05 ไมโครกรัมต่อกรัม) ภายในเวลา 1 และ 2 วัน ภายหลังการงดให้ยาตามลำดับ ฉะนั้นควรแนะนำให้เว้นระยะเวลาปลอดยา 1 วัน สำหรับการใช้ยาคลอเตตราซัยคลินในไก่กระทง

จากการสำรวจสภาวะการตกค้างของยากลุ่มเตตราซัยคลินในไก่สดที่จำหน่ายในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ พบว่าระหว่างช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2528 มีการตกค้างของยาในตับไก่เป็นจำนวน 29 ตัวอย่างจาก 149 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20.42 โดยมีระดับการตกค้างตั้งแต่ 0.0500 – 4.4525 ไมโครกรัมต่อกรัม และในระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2529 ตรวจพบการตกค้างของยาในไตไก่จำนวน 25 ตัวอย่างจาก 102 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็นร้อยละ 24.5 โดยมีระดับการตกค้างตั้งแต่ 0.0525 – 1.0068 ไมโครกรัมต่อกรัม