บทคัดย่องานวิจัย

การกำหนดราคาเสนอซื้อและปริมาณการค้ากุ้งกุลาดำของแพปลา กรณีศึกษา : สะพานปลากรุงเทพฯ

จริยา ภิญโญรัตนโชติ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 140 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

การกำหนดราคาเสนอซื้อและปริมาณการค้ากุ้งกุลาดำของแพปลา    กุ้งกุลาดำเป็นสินค้าที่ทำรายได้ส่งออกสูง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการกำหนดราคาเสนอซื้อและลักษณะการกำหนดปริมาณการค้ากุ้งกุ้งกุลาดำของแพปลา ณ องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ โดยใช้ข้อมูลรายวัน จำนวน 92 วัน จากแพปลา 4 แพ แยกชนิดกุ้งกุลาดำที่ศึกษาออกเป็น 6 ขนาด ตามวิธีการแบ่งขององค์การสะพานปลากรุงเทพฯ คือ กุ้งกุลาดำเล็ก (100-120 ตัว/กก.), กุ้งกุลาดำกลางเล็ก (60-70 ตัว/กก.), กุ้งกุลาดำกลาง (50-55 ตัว/กก.), กุ้งกุลาดำกลางใหญ่ (35-40 ตัว/กก.), กุ้งกุลาดำใหญ่ ( 30 ตัว/กก.) และ กุ้งกุลาดำใหญ่ที่สุด (22-25 ตัว/กก.)

พบวา ปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาเสนอซื้อคือ ราคารายวันขององค์การสะพานปลากรุงเทพ และ ผลต่างของราคาเฉลี่ยรายวันของกุ้งกุลาดำจากราคาขององค์การสะพานปลากรุงเทพฯ ส่วนราคาส่งออกจะมีผลต่อกุ้งกุลาดำบางขนาดเท่านั้น เช่น ขนาด 60-70 ตัวต่อกิโลกรัม และ ขนาด 50-55 ตัวต่อกิโลกรัม

สำหรับปริมาณการค้าของแพปลาแต่ละแพจะขึ้นอยู่กับลักษณะการค้าของแพปลานั้น ๆ ว่าเป็นการรับซื้อเพื่อส่งออกหรือจำหน่ายภายในประเทศ ถ้ารับซื้อเพื่อส่งออก ผลต่างของปริมาณการค้าของกุ้งกุลาดำขนาด 60-70 ตัวต่อกิโลกรัม และ 50-55 ตัวต่อกิโลกรัม จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดปริมาณการค้าของแพปลา ถ้าเป็นการรับซื้อเพื่อจำหน่ายในประเทศผลต่างของปริมาณการค้าของกุ้งกุลาดำขนาด 100-120 ตัวต่อกิโลกรัมจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดปริมาณการค้าของแพปลา