บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถภาพการขุน คุณภาพผลผลิต และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อ 5 พันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

นันทนา ช่วยชูวงศ์

วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต (สัตวศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย 118 หน้า

2540

บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถภาพการขุน คุณภาพผลผลิต และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อ 5 พันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย   การศึกษาสมรรถภาพการขุน คุณภาพผลผลิต และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อเพศผู้ตอนอายุ 10-12 เดือน จำนวน 30 ตัว ใช้แผนการทดลอง 5x2 Factorial in CRD ปัจจัยแรกเป็นโค 5 พันธุ์ คือ กำแพงแสน เดร้าท์มาสเตอร์ แบรงกัส อเมริกันบราห์มัน และลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน ปัจจัยที่สองเป็นชนิดของอาหาร คืออาหารข้นและหญ้าสด กับอาหารผสมเสร็จ ทำการขุนโคจนมีสภาพพร้อมส่งตลาดเนื้อโคชั้นสูง การทดลองที่ 1 พบว่า พันธุ์และชนิดของอาหารไม่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวเฉลี่ยตลอดการขุน (p>0.05) แต่พันธุ์เดร้าท์มาสเตอร์กินอาหารคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวสูงกว่าโคพันธุ์กำแพงแสน และลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน (p<0.01) โคที่ได้รับอาหารข้นและหญ้าสด กินอาหารคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวสูงกว่าโคที่ได้รับอาหารผสมเสร็จ (p<0.05) โคทุกพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ซากและพื้นที่หน้าตัดเนื้อสันไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่พันธุ์กำแพงแสนและแบรงกัสมีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงจากส่วนตัดสี่ส่วนหลักสูงกว่าพันธุ์เดร้าท์มาสเตอร์ และลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน (p<0.01) โคพันธุ์อเมริกันบราห์มันและลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน (p<0.01) โคพันธุ์เดร้าท์มาสเตอร์ แบรงกัสและอเมริกันบราห์มันมีไขมันสันหลังหนากว่าพันธุ์กำแพงแสน และลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน (p<0.01) ชนิดของอาหารไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์ซาก พื้นที่หน้าตัดเนื้อสัน เปอร์เซ็นต์กระดูกและไขมันแต่งเมื่อคิดจากน้ำหนักซาก แต่โคที่ได้รับอาหารข้นและหญ้าสดมีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงจากส่วนตัดสี่ส่วนหลักสูงกว่าโคที่ได้รับอาหารผสมเสร็จ (p<0.01) การเลี้ยงโคขุน 5 พันธุ์ที่ได้รับอาหารทั้ง 2 ชนิดให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำจนถึงขาดทุน แต่เมื่อคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปเงินสด แล้วจะมีกำไร โดยพันธุ์กำแพงแสนให้กำไรสูงสุด การขุดโคด้วยอาหารผสมเสร็จให้ผลกำไรสูงกว่าการขุนด้วยอาหารข้นและหญ้าสด การทดลองที่ 2 ผลการศึกษาคุณภาพและคุณสมบัติเนื้อ พบว่า โคที่มีเลือดโคเมืองหนาวมีแนวโน้มให้เนื้อที่มีคุณภาพในการบริโภคดีกว่าโคที่มีเลือดโคเมืองร้อน พบว่า ลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มันมีค่าแรงตัดผ่านเนื้อสูงกว่าโคทุกพันธุ์ (p<0.01) และมีความนุ่ม รสชาติ ความชุ่มฉ่ำต่ำกว่าโคพันธุ์อื่นๆ (p<0.01) แต่ไม่แตกต่างทางสถิติจากพันธุ์อเมริกันบราห์มัน คะแนนความพอใจโดยสรุปของเนื้อโคกำแพงแสน เดร้าท์มาสเตอร์และแบรงกัสดีกว่าพันธุ์อเมริกันบราห์มันและลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มัน (p<0.01) ชนิดอาหารไม่มีผลต่อค่าแรงตัดผ่านเนื้อ และคะแนนการตรวจชิมเนื้อทุกลักษณะโคอเมริกันบราห์มันและลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มันมีเนื้อสีแดงเข้มกว่าพันธุ์กำแพงแสน เดร้าท์มาสเตอร์และแบรงกัส (p<0.01) แต่สีไขมันไม่แตกต่างกันทางสถิติ โคที่ได้รับอาหารผสมเสร็จมีไขมันสีขาวกว่าโคที่ได้รับอาหารข้นและหญ้าสด (p<0.05) พันธุ์และชนิดของอาหารไม่มีผลต่อความยาว ซาร์โคเมียร์ของเส้นใยกล้ามเนื้อและปริมาณคอลลาเจนในกล้ามเนื้อแต่เส้นผ่าศูนย์กลางเส้นใยกล้ามเนื้อของโคพันธุ์อเมริกันบราห์มันและลูกผสมอินดูบราซิลxบราห์มันใหญ่กว่าพันธุ์กำแพงแสนและแบรงกัส (p<0.05)