บทคัดย่องานวิจัย

ผลทางพิษพยาธิวิทยาในไก่เนื้อที่ได้รับสารพิษจากเชื้อราฟูซาเรี่ยมที่แยกได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งปลูกในประเทศไทย

บังอร จินะณรงค์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพยาธิวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2543. 129 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

ผลทางพิษพยาธิวิทยาในไก่เนื้อที่ได้รับสารพิษจากเชื้อราฟูซาเรี่ยมที่แยกได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งปลูกในประเทศไทย  Fusarium spp. เป็นเชื้อราซึ่งพบเสมอในธัญญพืชที่เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์สร้างสารพิษได้หลายชนิด ได้แก่ fumonisin, moniliformin, fusaric acid, fusarin, trichothecenes ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดโรคในมนุษย์และสัตว์ จุดประสงค์ของงานนี้คือ การแยกและจำแนกเชื้อราFusarium จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในประเทศไทย การปรับสภาพแวดล้อมทำให้เชื้อราเจริญและสร้างสารพิษได้ในสภาวะห้องทดลอง และศึกษาผลทางพิษพยาธิวิทยาต่อไก่เนื้อที่ได้รับสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว โดยเก็บตัวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในประเทศ จำนวน 122 ตัวอย่าง มาตรวจหาสารพิษด้วยน้ำยาสำเร็จรูป ELISA test kit (Veratox(TM) พบการสร้างสารพิษ fumonisin, T-2 toxin, ochratoxin และ aflatoxin นำข้าวโพดดังกล่าวมาแยกเชื้อราFusarium spp. ด้วยวิธี dilution plate บนอาหาร PCNB-peptone agar, potato dextrose agar และ cornmeal agar สามารถตรวจพบรา Fusariumspp. ในทุกตัวอย่าง คัดเลือกเชื้อราที่ได้จากข้าวโพดซึ่งพบสารพิษ fumonisin มากกว่า 4,000 ppb จำนวน 8 สายพันธุ์มาจำแนกชนิด โดยศึกษาลักษณะการเจริญบนอาหาร potato dextrose agar, potato sucrose agar, corn leaf agar และ corn seed agar รวมลักษณะทางสัณฐานวิทยา สามารถแยกได้เป็น Fusarium moniliforme Sheldon ที่สร้างสารพิษ fumonisin และ T-2 toxin ได้ทุกสายพันธุ์ คัดเลือกเชื้อรารหัส 4262 ซึ่งมีความสามารถในการสร้างสารพิษ fumonisin และ T-2 toxin ได้สูงสุดมาเพาะเลี้ยงบนข้าวโพดปลอดเชื้อเป็นเวลานาน 35 วัน นำข้าวโพดที่มีสารพิษดังกล่าวมาผสมเป็นอาหารไก่ แล้วนำไปเลี้ยงไก่เนื้ออายุ 1 วัน จำนวน 166 ตัว เป็นเวลานาน 25 วันโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง พบว่า ที่ 5 10 15 และ 25 วัน มีค่าเคมีเลือด AST, ALT, ALP และ GGT สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีรอยโรคที่ตับ ม้าม ต่อมไทมัส และต่อมเบอร์ซ่า สรุปได้ว่าสารพิษจากเชื้อราFusarium moniliformeรหัส 4262 ที่แยกได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งปลูกในประเทศไทยมีผลต่อสุขภาพสัตว์