บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินผลการจัดชั้นคุณภาพของผลชมพู่พันธุ์ทูลเกล้าและเพชรสายรุ้ง

กวิศร์ วานิชกุล

รายงานผลการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2542

บทคัดย่อ

การประเมินผลการจัดชั้นคุณภาพของผลชมพู่พันธุ์ทูลเกล้าและเพชรสายรุ้ง

การประเมินผลการจัดชั้นคุณภาพของชมพู่เพชรสายรุ้งโดยเกษตรกร ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และชมพู่ทูลเกล้า โดยเกษตรกร ต. คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อทราบข้อดีและข้อเสียรวมทั้งความแตกต่างทางปริมาณและคุณภาพของชมพู่เพชรสายรุ้งและทูลเกล้า ในระดับชั้นคุณภาพต่าง ๆ โดยใช้ผลชมพู่เพชรสายรุ้งและทูลเกล้าที่จัดชั้นคุณภาพตามวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติโดยใช้ขนาดผลเป็นเกณฑ์ ชมพู่เพชรสายรุ้งแบ่งเป็น 4 เกรด คือ 0,1,2 และ 3 ลำดับ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยจากเกรด 0 ถึง 3 ดังนี้คือ 117.28, 85.45, 68.35 และ 58.12 กรัมต่อผล ตามลำดับ ส่วนชมพู่ทูลเกล้า จัดแบ่งเป็น 4 เกรด คือ ยอด พิเศษ กลาง และเล็ก มีน้ำหนักผลเฉลี่ยในแต่ละเกรด 95.77, 76.14, 61.31และ 41.65 กรัมตามลำดับ เมื่อนำข้อมูลน้ำหนักของผลชมพูดทั้ง 2 พันธุ์มาสร้างเป็นกราฟเส้นโค้งความถี่ พบว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างเกรดที่ใกล้เคียงกัน โดยชมพู่เพชรสายรุ้งมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเกรด 0 กับ 1 และ 1 กับ 3 ประมาณ 15 % ระหว่างเกรด 1 กับ 2 ประมาณ 35% และระหว่างเกรด 2 กับ 3 ประมาณ 50 % ส่วนชมพู่ทูลเกล้า เปอร์เซ็นต์ความเหลื่อมล้ำที่พบมากได้แก่ ระหว่างเกรดยอดกับพิเศษ ประมาณ43% เกรดพิเศษเหลื่อมกับเกรดเล็กประมาณ 34% และเกรดกลางเหลื่อมเข้าไปในเกรดเล็ก ประมาณ 67% ตำหนิที่พบมากของชมพู่ทั้ง 2 พันธ์ คือผลช้ำกับผลแตก สำหรับคุณภาพภายนอกพบว่าค่าความกว้าง ความยาวและน้ำหนักผลในแต่ละเกรดของชมพู่ทั้ง 2 พันธุ์ มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยมีค่าเรียงลำดับจากมาไปน้อยตามระดับเกรดที่จัดไว้ ส่วนคุณภายภายในชมพู่เพชรสายรุ้ง เกรด 0 ความแน่นเนื้อ ความหนาเนื้อ และเปอร์เซ็นต์ recovery โดยเฉลี่มากกว่า เกรด 1,2 และ 3 ในขณะที่เกรด 2 มีปริมาณ total soluble solids โดยเฉลี่ยมากกว่าเกรดอื่น ๆ แต่ค่า pH และเปอร์เซ็นต์กรดในน้ำคั้นจากเนื้อผล ไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างเกรด สำหรับชมพู่ทูลเกล้า พบว่าเกรดยอดมีเปอร์เซ็นต์ recovery pH และเปอร์เซ็นต์กรดในน้ำคั้นจากเนื้อผล โดยเฉลี่ยสูงสุดส่วนเกรดพิเศษมีปริมาณ total soluble solids และความหนาเนื้อโดยเฉลี่ยสูงสุดและมีความแตกต่างทางสถิติระหว่างเกรด ลักษณะที่ไม่แตกต่างทางสถิติมีเพียงลักษณะเดียวคือค่าความแน่นเนื้อ