บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาหลักการทำงานของเครื่องคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่

ชัยวัฒน์ สินธุพัฒน์สุข ศัลยา แซ่ตั้ง และสุวลัย ทวีวุฒิ

รายงานของนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2538. 83 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การศึกษาหลักการทำงานของเครื่องคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ ย่อ

โครงการนี้เป็นการศึกษาหลักการคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่เพื่อเสนอหลักการทำงานที่ควรใช้สำหรับสร้างเครื่องคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ โดยทำการศึกษาหลักการคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ ซึ่งใช้ขนาดเป็นเกณฑ์กับหลักการคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ซึ่งใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ได้ผลดังนี้

1. หลักการคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่โดยใช้ขนาดเป็นเกณฑ์ (ศึกษาวิธีการคัดแยกโดยใช้รางคัดขนาดและตะแกรงคัดขนาดแบบทรงกระบอก) ไม่สามารถคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ได้ดีนัก เนื่องจากรูปร่างของหอมหัวใหญ่มีหลายแบบคละกันมา จึงต้องมีการคัดแยกเบื้องต้นด้วยคนก่อน เพื่อให้เหลือเฉพาะหอมหัวใหญ่ที่มีรูปร่างกลมมาใช้คัดแยกด้วยเครื่อง

2. หลักการคัดแยกหอมหัวใหญ่โดยใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ เป็นหลักการที่ควรใช้สำหรับสร้างเครื่องคัดแยกหอมหัวใหญ่คัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่ เนื่องจาก

- จากการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของหอมหัวใหญ่ พบว่าขนาดจะแปรผันตามน้ำหนักของหอมหัวใหญ่ซึ่งประมาณความสัมพันธ์ได้เป็นเส้นตรง

- จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคโดยการทดสอบการทำงานของเครื่องจำลอง พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องในการคัดแยกเฉลี่ย 86.33% และอัตราการคัดแยก 1000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในขณะที่การคัดแยกขนาดหอมหัวใหญ่โดยใช้แรงงานคนในปัจจุบันมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องในการคัดแยกเฉลี่ย 90.62% และอัตราการคัดแยก 175 กิโลกรัมต่อคนต่อชั่วโมง

-ไม่มีปัญหาการติดขัดระหว่างการทำงานของเครื่องในกรณีที่ทำการคัดแยกหอมหัวใหญ่ขนาดคละ โดยไม่ต้องมีการคัดแยกเบื้องต้นด้วยคนก่อน

ดังนั้นจึงถือว่าหลักการนี้มีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค เมื่อนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นน่าจะมีความสามารถในการทำงานที่สูงขึ้นได้ แต่ในการที่จะพัฒนาเพื่อที่จะนำไปใช้งานจริงนั้นควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเศรษฐศาสตร์ต่อไป