บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาวิธีชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูงโดยการดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว

ลือพงษ์ ลือนาม

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544. 131 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูงโดยการดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูง โดยการดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว ในระหว่างการรอขนย้ายและ/หรือไม่สามารถลดความชื้นได้ ซึ่งแบ่งการศึกษาวิจัยเป็น การศึกษาลักษณะพฤติกรรมของอุณหภูมิและการสะสมความร้อนภายในกองข้าว การศึกษารูปแบบการจัดวางท่อดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว และการศึกษาอัตราการดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว ซึ่งมีผลการศึกษาโดยสรุป ดังนี้

1. การศึกษาลักษณะพฤติกรรมของอุณหภูมิและความร้อน สำหรับการกองข้าวอยู่กับที่ภายในและภายนอกอาคาร ความชื้นเริ่มต้นประมาณ 23 %wb พบว่า พฤติกรรมของอุณหภูมิภายในกองข้าวบ่งชี้ถึงตำแหน่งเริ่มต้นการสะสมความร้อนบริเวณกลางกอง และการเคลื่อนที่ของอากาศร้อนชื้นภายในกองข้าว ซึ่งมีลักษณะสมมาตรเชิงเรขาคณิตตามแกนกอง จากขอบฐานกรวยกองโดยรอบเคลื่อนที่เข้าหากลางกอง แล้วนำพาความร้อนและไอน้ำขึ้นสู่ยอดกรวยกอง จนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 60 องศาเซลเซียส ทำให้คุณภาพข้าวลดลงโดยเฉพาะความขาวของข้าวสาร

2. การศึกษารูปแบบการจัดวางท่อดูดระบายอากาศออกจากกองข้าวความชื้นเริ่มต้น 20.4%wb พบว่า การดูดระบายอากาศอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการไหล 2 ลบ.ม./นาที-ลบ.ม. ในการจัดวางท่อดูดรูปทางท่อเดี่ยวและท่อแยก ช่วยลดอุณหภูมิภายในกองข้าวให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิอากาศแวดล้อมภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยยังรักษาคุณภาพข้าวไว้ได้ดี และยังช่วยลดความชื้นข้าวเปลือกให้ต่ำลง ซึ่งกรณีจัดวางท่อดูดรูปทรงท่อแยก ข้าวเปลือกที่ผิวท่อดูดเกิดการงอกเป็นต้นอ่อนและมีราสีขาวเล็กน้อย แต่ไม่เกิดขึ้นกับกรณีจัดวางท่อดูดรูปทรงท่อเดี่ยว เนื่องจากมีรูปแบบสอดคล้องกับรูปทรงกองข้าว ทำให้ระบายความร้อนและไอน้ำออกจากกองข้าวได้ดี ส่วนกรณีไม่มีการดูดระบายอากาศอุณหภูมิภายในกองข้าวเพิ่มสูงขึ้นถึง 60 องศาเซลเซียส

3. การศึกษาอัตราการดูดระบายอากาศออกจากกองข้าว สำหรับการจัดวางท่อเดี่ยว ความชื้นเริ่มต้น 29.3%wb พบว่า การดูดระบายอากาศด้วยอัตราการไหล 0.5, 1.0 และ 1.5 ลบ.ม./นาที-ลบ.ม. ข้าวเปลือก ช่วยลดอุณหภูมิภายในกองข้าวให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิอากาศแวดล้อมภายในเวลา 10-20 ชั่วโมง เป็นการป้องกันการสะสมความร้อนภายในกองข้าว ถึงแม้ข้าวเปลือกบริเวณระหว่างปลายท่อและพื้นมีความชื้นค่อนข้างมาก มีราสีขาวเล็กน้อยก็ตาม แต่โดยรวมข้าวยังคงคุณภาพดีไม่เกิดความเสียหาย และอัตราการไหล 1.0 และ 1.5 ลบ.ม./นาที-ลบ.ม. ข้าวเปลือก ยังมีส่วนช่วยลดความชื้นข้าวเปลือกให้ต่ำลงด้วย ซึ่งการไม่ดูดระบายอากาศ เกิดความร้อนสูงภายในกองข้าว จนอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องถึง 60 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 20 ชั่วโมง และเพิ่มขึ้นสูงถึง 80 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 40 ชั่วโมง ทำให้ความขาวของข้าวสารลดลงภายในเวลา 2-3 วัน เมื่อทดลองเป็นเวลา 7 วัน ลดลงต่ำกว่าทั้งสามกรณีถึง 20 หน่วย

ดังนั้นอัตราการไหล 0.5 ลบ.ม./นาที-ลบ.ม. ข้าวเปลือก จึงเพียงพอสำหรับการดูดระบายความร้อนออกจากกองข้าว ในการชะลอการเสื่อมคุณภาพของข้าวเปลือกความชื้นสูง โดยยังคงรักษาคุณภาพข้าวไว้ได้ดี