บทคัดย่องานวิจัย

การปรับปรุงและประเมินผลเครื่องบดวัสดุแบบเกลียวอัดสำหรับบดพริก

มณฑล หมายเคียงกลาง

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544. 74 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การปรับปรุงและประเมินผลเครื่องบดวัสดุแบบเกลียวอัดสำหรับบดพริก   การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและประเมินผลเครื่องบดวัสดุแบบเกลียวอัดสำหรับบดพริก ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ศึกษาวิธีปฏิบัติ ปัญหาและความต้องการของผู้ผลิตพริกป่นรายย่อย โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์ผู้ผลิตพริกป่นรายย่อยในเขตจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และชัยภูมิ การศึกษาและทดสอบเบื้องต้นเครื่องบดวัสดุที่ผู้ผลิตพริกป่นรายย่อยมีใช้ในปัจจุบัน การปรับปรุงเครื่องบดวัสดุแบบเกลียวอัดสำหรับบดพริก และการทดสอบประเมินผลเครื่องบดพริกแบบเกลียวอัดภายหลังการปรับปรุง ผลการศึกษามีดังนี้

1. การผลิตพริกป่นมีขั้นตอน คือ การเตรียมวัตถุดิบ การคั่วพริก การบด การบรรจุและการจำหน่าย ทุกครัวเรือนที่ศึกษาจะจ้างแรงงานในการคั่ว บด และบรรจุหีบห่อ โดยในขั้นตอนการบดพริกนั้นนิยมนำเครื่องบดเนื้อแบบเกลียวอัดมาใช้ในการบดพริกมากที่สุด แต่มีปัญหาในแง่ของผู้ปฏิบัติงาน คือ ปัญหาจากฝุ่นละอองพริกป่นที่เกิดจากการทำงานของเครื่อง เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานต้องควบคุมการป้อนวัสดุเข้าเครื่องอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยการป้อนใช้มือกวาดพริกแห้งลงช่องป้อนของเครื่องบด ซึ่งวิธีการนี้ผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองพริกป่นโดยตรง ทำให้เกิดการแสบร้อนตามร่างกาย และอาจเกิดอันตรายขึ้นได้หากเผลอเรอ แรงงานโดยทั่วไปจึงไม่ปรารถนาที่จะบดพริก หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ จากปัญหาดังกล่าวผู้ผลิตพริกป่นรายย่อย จึงมีความต้องการที่จะปรับปรุงเครื่องบดพริกที่ใช้อยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะปรับปรุงอย่างไร รวมทั้งมีความเห็นว่าเป็นการเหมาะสม หากมีเครื่องป้อนพริกเข้าเครื่องบดแทนการป้อนโดยคน เพราะคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้

2. ผลการศึกษาทดสอบเครื่องบดพริกเบื้องต้น ซึ่งมี 4 แบบ ได้แก่ เครื่องบดแบบล้อบดในถังปิด เครื่องบดแบบเกลียวอัด เครื่องบดแบบชุดใบตีหมุน และเครื่องบดแบบซี่ ซึ่งให้ผลของการบดโดยใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยเรขาคณิต (Dgw) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของขนาดพริกป่น (Sgw) เปรียบเทียบกับขนาดพริกป่นที่บดโดยแรงงานคนซึ่งสุ่มจากท้องตลาดเป็นค่าชี้ผล ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นมีดังนี้

แบบของเครื่องบดขนาดของพริกป่นค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

(Dgw, ไมโครเมตร)(Sgw)

แบบล้อบดในถังปิด1,2081.961

แบบเกลียวอัด1,1352.358

แบบชุดใบตีหมุน1,3981.947

แบบซี่9572.034

บดโดยแรงงานคนอยู่ในช่วง 766-979อยู่ในช่วง 2.257-2.497

ผลการศึกษาและทดสอบเบื้องต้นของเครื่องบดดังกล่าว มีข้อสรุปดังนี้

- เครื่องบดที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบันบดได้พริกป่นที่มีขนาดหยาบเป็นปริมาณมากเมื่อเทียบกับพริกป่นที่สุ่มมาจากท้องตลาดซึ่งบดโดยแรงงานคน มีแนวทางการปรับปรุงเครื่องคือ การปรับปรุงแผ่นหน้าแว่นให้มีขนาดรู 5.5 มิลลิเมตร และลดความหนาจากเดิม 0.9 มิลลิเมตร เป็น 5 มิลลิเมตร เพื่อลดการอัดตัวของพริกป่นที่รูแผ่นหน้าแว่น

- เกิดฝุ่นละอองพริกป่นฟุ้งกระจายและกลิ่นฉุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติงาน มีแนวทางการปรับปรุงเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว คือ มีเครื่องป้อนแบบใบพัดแทนการป้อนโดยคน ส่วนประกอบหลักของเครื่องป้อน คือ ถังป้อน ซี่กวนวัสดุ ใบพัดและตัวเรือน

3. ผลการทดสอบบดพริกโดยเครื่องบดแบบเกลียวอัดภายหลังการปรับปรุง เพื่อให้ได้อัตราการบดมากที่สุดควรใช้ความเร็วรอบเกลียวบดในช่วง 200-270 รอบ/นาที และอัตราการป้อน 144 กิโลกรัม/ชั่วโมง หรือความเร็วรอบของใบพัดเครื่องป้อน 12 รอบ/นาที ซึ่งได้อัตราการบด 90 กิโลกรัม/ชั่วโมง ขนาดของพริกป่น (Dgw) ที่บดได้โดยเครื่องบดแบบเกลียวอัดภายหลังการปรับปรุงอยู่ในช่วง 712-1,094 ไมโครเมตร พบว่าอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้เมื่อเทียบกับขนาดพริกป่นที่บดโดยแรงงานคน