บทคัดย่องานวิจัย

การหาดัชนีความสุกแก่ของทุเรียนพันธุ์หมอนทองโดยใช้ความถี่ธรรมชาติและความแข็งแรงก้าน

ณัฐวุฒิ เนียมสอน

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต วิศวกรรมการอาหาร สาขาวิชาวิศวกรรมการอาหาร ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 97 หน้า

2546

บทคัดย่อ

การหาดัชนีความสุกแก่ของทุเรียนพันธุ์หมอนทองโดยใช้ความถี่ธรรมชาติและความแข็งแรงก้าน  การคัดแยกผลทุเรียนแก่ออกจากผลอ่อนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งออกทุเรียนในปัจจุบัน ผู้มีความชำนาญจะพิจารณาปัจจัยหลายๆ ประการประกอบการตัดสินใจ การวิจัยนี้ศึกษาวิธีการวัดปัจจัยที่สัมพันธ์กับความแก่ทุเรียนแบบไม่ทำลาย โดยการวัดความแข็งแรงของก้านและความถี่ธรรมชาติ เพื่อนำไปประเมินค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งซึ่งเป็นดัชนีวัดความอ่อนแก่ของผลทุเรียนที่ได้จากวิธีการวัดแบบทำลาย ผลทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 130 ผล ในช่วงอายุหลังวันดอกบาน 7 ช่วง ตั้งแต่ 105 วันถึง 136 วัน ถูกเก็บเกี่ยวและนำมาหาพารามิเตอร์ด้วยวิธีการวัดแบบไม่ทำลายสองวิธี ได้แก่ การวัดความแข็งแรงก้านผลด้วยอุปกรณ์วัดแรงกดที่สัมพันธ์กับระยะกดเมื่อบีบก้านผล และการวัดความถี่ธรรมชาติด้วยเครื่องมือเคาะและเก็บสัญญาณเสียง หลังจากนั้นนำเนื้อทุเรียนมาอบเพื่อหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง จากการวิเคราะห์ค่าพารามิเตอร์ความแข็งแรงก้านพบว่าพารามิเตอร์ที่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งมากที่สุดคือพื้นที่ใต้กราฟระหว่างแรงกดและระยะยุบตัว (A) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (R) = 0.808 ส่วนค่าความถี่ธรรมชาติ (RF) มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กับค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง (R) = 0.448 และเมื่อวิเคราะห์หาสมการถดถอย สำหรับประเมินเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งโดยวิธีการถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression) พบว่าสมการที่เหมาะสมสำหรับประเมินค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งประกอบด้วยค่าตัวแปรพื้นที่ใต้กราฟ (A) และตัวแปรความถี่ธรรมชาติ (RF) ซึ่งสมการประเมิน คือ %Dm = 20.663 + 0.182A – 0.056RF โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงซ้อน (R) = 0.844 และค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ (R2) = 0.709