บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์การตอบสนองอุปทานสับปะรดในประเทศไทย

พรเทพ อำนรรฆกิตติกุล

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เศรษฐศาสตร์เกษตร สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 121 หน้า

2546

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์การตอบสนองอุปทานสับปะรดในประเทศไทย สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตสับปะรดกระป๋อง ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก ในอดีตที่ผ่านมาเกิดปัญหาการขาดแคลนสับปะรด และบางครั้งเกิดปัญหาเรื่องปริมาณอุปทานสับปะรดมากเกิดความต้องการ ทำให้เกิดปัญหาความไม่มีเสถียรภาพในราคาสับปะรด จากปัญหาดังกล่าวทำให้ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปทางการผลิต การตลาดสับปะรดในประเทศไทยและการตอบสนองของอุปทานสับปะรด รวมถึงคาดคะเนแนวโน้มของอุปทานผลผลิตสับปะรด

ในการศึกษาการตอบสนองของอุปทานสับปะรดได้ใช้วิธี Seemingly unrelated regression ในการวิเคราะห์สมการตอบสนองของพื้นที่ปลูกสับปะรด และใช้วิธี Ordinary least square ในการวิเคราะห์สมการตอบสนองของผลิตผลสับปะรดต่อไร่ โดยพบว่าแบบจำลองที่รวมระหว่างการคาดการณ์ที่ปรับตัวได้และการปรับตัวบางส่วนเป็นแบบจำลองที่ดีที่สุด เพื่อใช้ในการคำนวณหาความยืดหยุ่นและพยากรณ์ผลผลิตสับปะรด

ผลการศึกษาพบว่า ราคาสับปะรดเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความีเสถียรภาพในราคาสับปะรดและปริมาณผลผลิตสับปะรดสอดคล้องกับความต้องการของโรงงานแปรรูป รัฐบาลควรปรับระบบการผลิตสับปะรดให้ดำเนินไปสู่การวางแผนการผลิตร่วมกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสับปะรดแปรรูป และพบว่า ราคาสับปะรด ราคาปุ๋ยเคมี และค่าจ้างแรงงาน เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตสับปะรดต่อไร่ ดังนั้นควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองราคาสับปะรดและราคาปัจจัยการผลิต อีกทั้งพบว่า ปริมาณผลผลิตสับปะรดที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่ทำให้เกิดความต้องการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ราคาปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นควรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นแทนที่การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก โดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้การผลิตสับปะรดมีผลผลิตต่อไร่ในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้พบว่า ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสับปะรดต่อไร่ จึงควรมีการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกสับปะรดในภาคตะวันออก