บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาควบคุมการสร้างและการทำงานของเอทธิลีนที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายเพื่อการส่งออก

สายชล เกตุษา ฟองจันทร์ ธรรมพิทักษ์กร จิตรา ตระกูลน่าเลื่อมใส และวชิรญา อิ่มสบาย

รายงานการวิจัย ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2543. 151 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

การศึกษาควบคุมการสร้างและการทำงานของเอทธิลีนที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้หวายเพื่อการส่งออก ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศไทย เพราะสามารถทำรายได้สูงให้กับผู้ปลูกเลี้ยงและผู้ส่งออกโดยมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 1000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาดอกกล้วยไม้ไทยที่ส่งออกส่วนมากเป็นดอกกล้วยไม้สกุลหวายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ดอกกล้วยไม้หวายเมื่อถึงตลาดส่งออกที่ปลายทางมักมีปัญหาได้รับการร้องเรียนจากผู้นำเข้าเกี่ยวกับดอกเหี่ยวและดอกร่วง และมีอายุการปักแจกันสั้นเมื่อผู้ซื้อนำไปใช้งานที่บ้าน เอทธิลีนเป็นฮอร์โมนพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยว วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้คือเพื่อศึกษาการควบคุมการสร้างและการทำงานของเอทธิลีนที่ปลดปล่อยออกมาโดยดอกกล้วยไม้หวายมีผลกระทบอย่างไรต่อคุณภาพของดอกกล้วยไม้หวายที่จำลองการส่งออก การวิจัยครั้งนี้ทำการทดลองกับดอกกล้วยไม้หวายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ พันธุ์ Blushing, Jo Big White, Caesar 2N, Caesar 4N, JewYuay Tew, Madame Vipa, Mary Mark, Pompadour, Sabin, Sonia Bom #28, Walter Oumae Taba 2N และ Walter Oumae Taba 4N โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 6 การทดลอง คือ 1) การสร้างเอทธิลีนของดอกกล้วยไม้หวายวัยต่างๆ 2) การสร้างเอทธิลีนของช่อดอกกล้วยไม้หวายที่บรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูกที่มีขนาดต่างกัน 3) ผลกระทบของอุณหภูมิที่มีต่อการสร้างเอทธิลีนของช่อดอกกล้วยไม้หวายระหว่างจำลองการบรรจุเพื่อการส่งออก 4) ผลกระทบของดอกกล้วยไม้หวายที่ได้รับเอทธิลีน 5) การใช้สารดูดซับเอทธิลีน (ethylene absorbent) และ 6) การจำลองบรรจุกล้วยไม้หวายเพื่อการส่งออก ผลการวิจัยพบว่าช่อดอกกล้วยไม้หวายที่มีเฉพาะดอกตูมมีอัตราการสร้างเอทธิลีนสูงกว่าช่อดอกที่มีเฉพาะดอกบาน ดอกตูมที่มีขนาดเล็กมีอัตราการสร้างเอทธิลีนสูงกว่าดอกตูมที่มีขนาดใหญ่กว่า ดอกเริ่มบานมีอัตราการสร้างเอทธิลีนสูงกว่าดอกตูมขนาดโตและดอกบาน และดอกบานที่เริ่มเข้าสู่วัยชราภาพมีอัตราการสร้างเอทธิลีนเพิ่มขึ้น ดอกตูมและดอกบานของกล้วยไม้หวาย 2N มีอัตราการสร้างเอทธิลีนสูงกว่าดอกตูมและดอกบานของกล้วยไม้หวาย 4N ขณะที่ดอกกล้วยไม้หวาย 2N มีอายุการปักแจกันสั้นกว่าดอกกล้วยไม้หวาย 4N อัตราการสร้างเอทธิลีนในส่วนต่างๆ ของดอกบานนั้น พบว่า เส้าเกสร (column) + กลีบกระเป๋า (lip) + ก้านดอกย่อย (pedicel) มีอัตราการสร้างเอทธิลีนมากกว่าหลายเท่าในส่วนของกลีบดอก (petal) + กลีบนอก (sepal) ปริมาณของสารตัวกลางในการสร้างเอทธิลีน (intermediate) คือ1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) และกิจกรรมของ key enzyme ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเอทธิลีนคือ ACC synthase นั้นพบว่ามีความสอดคล้องผันตรงกับอัตราการสร้างเอทธิลีนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในดอกกล้วยไม้หวายวัยต่างๆ และส่วนต่างๆ ของดอกบาน ดอกตูมและดอกบานของดอกกล้วยไม้หวาย 2N มีปริมาณ ACC และกิจกรรม ACC synthase และ ACC oxidase มากกว่าดอกตูมและดอกบานของดอกกล้วยไม้หวาย 4N สารยับยั้งกิจกรรม ACC synthase คือ aminooxyacetic acid (AOA) สามารถยับยั้งการสร้างสารเอทธิลีน ลดปริมาณ ACC และกิจกรรม ACC synthase ของดอกกล้วยไม้ทั้งดอกตูมและดอกบาน และทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น กล่องกระดาษลูกฟูกขนาดใหญ่ที่บรรจุจำนวนช่อดอกกล้วยไม้หวายมากกว่ามีความเข้มข้นของเอทธิลีนภายในภาชนะบรรจุมากกว่ากล่องกระดาษลูกฟูกขนาดเล็กที่บรรจุจำนวนช่อดอกกล้วยไม้หวายน้อยกว่า การจำลองบรรจุดอกกล้วยไม้หวายเพื่อการส่งออกที่อุณหภูมิ 20°ซ. มีความเข้มข้นของเอทธิลีนภายในภาชนะบรรจุน้อยกว่าการจำลองส่งออกที่อุณหภูมิ 25°ซ. และ 30°ซ. การลดอุณหภูมิเบื้องต้นของดอกกล้วยไม้ที่อุณหภูมิ 10°ซ. นาน 30, 60, 90 และ 120 นาที การลดอุณหภูมิเบื้องต้นและการจำลองส่งออกที่อุณหภูมิต่ำสามารถลดอัตราการสร้างเอทธิลีนของดอกกล้วยไม้หวายโดยทำให้ความเข้มข้นของเอทธิลีนลดลงภายในภาชนะบรรจุดอกกล้วยไม้และทำให้คุณภาพของดอกกล้วยไม้ดีขึ้น การลดอุณหภูมิเบื้องต้นของดอกกล้วยไม้หวายโดยห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10°ซ. นาน 60 นาที มีแนวโน้มลดความเข้มข้นของเอทธิลีนภายในภาชนะบรรจุดอกกล้วยไม้ได้มากที่สุด การลดอุณหภูมิและการจำลองส่งออกที่อุณหภูมิต่ำลดปริมาณ ACC และกิจกรรม ACC synthase ในดอกกล้วยไม้หวาย ดอกกล้วยไม้หวายที่ได้รับเอทธิลีน 0.2-0.8 พีพีเอ็ม ทำให้ดอกบานคว่ำ ลู่ เหี่ยว สีซีด และปรากฏของเส้นเวน (vein) ก้านดอกตูมโค้งลง และดอกตูมร่วง การดูดน้ำและน้ำหนักลดลง อาการของความรุนแรงในการตอบสนองต่อเอทธิลีนขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเอทธิลีน ความยาวนานในการได้รับเอทธิลีน และพันธุ์ของดอกกล้วยไม้หวาย แต่ถ้าให้ดอกกล้วยไม้หวายได้รับสารยับยั้งการทำงานของเอทธิลีน คือ 2,5-norbornadiene (NBD) 1000, 2000 และ 3000 พีพีเอ็ม นาน 24 ชั่วโมง ก่อนได้รับเอทธิลีน ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดจากเอทธิลีนได้ การใช้สารดูดซับเอทธิลีนร่วมกับการบรรจุเปียกดอกกล้วยไม้หวายระหว่างการจำลองส่งออกจำนวน 1, 2 และ 3 ห่อต่อกล่อง สามารถลดความเข้มข้นของเอทธิลีนภายในภาชนะบรรจุดอกกล้วยไม้ และการใช้สารดูดซับเอทธิลีนร่วมกับการลดอุณหภูมิเบื้องต้นของดอกกล้วยไม้ก่อนบรรจุสามารถลดวามเข้มข้นของเอทธิลีนภายในภาชนะบรรจุดอกกล้วยไม้หวายมากกว่าการใช้สารดูดซับเอทธิลีนหรือการลดอุณหภูมิเบื้องต้นเพียงอย่างเดียว ควรมีการใช้สารยับยั้งการสร้างเอทธิลีน การลดอุณหภูมิ การใช้สารดูดซับเอทธิลีนร่วมกับการบรรจุเปียกที่มีสารอาหารและสารฆ่าจุลินทรีย์ เพราะจะทำให้สามารถปรับปรุงคุณภาพดอกกล้วยไม้หวาย และยืดอายุการปักแจกันของเพิ่มขึ้นมากกว่าการปฏิบัติการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด