บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อการตกกระของผลกล้วยไข่สุก

สายชล เกตุษา และรุจิรา เชื้อหอม

รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ รหัสโครงการ พ-ศ 4.41 สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2541. 122 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อการตกกระของผลกล้วยไข่สุก    การศึกษาผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อการตกกระของกล้วยไข่ โดยการห่อหวีกล้วยไข่ด้วยฟิล์มพลาสติกพีวีซีที่มีเครื่องหมายการค้าต่างกันคือ M Wrap, Sun Wrap, Mitsubishi และ Nanya Wrap พบว่าการห่อกล้วยไข่ด้วยฟิล์มพลาสติกพีวีซีสามารถลดการตกกระในกล้วยไข่ได้ โดยการใช้ฟิล์มพลาสติก Sun Wrap ทำให้กล้วยไข่เกิดการตกกระน้อยที่สุด ขณะที่กล้วยไข่ยังมีการสุกและรสชาติปกติ จากการตรวจสอบปริมาณแก๊สต่างๆ ในบรรยากาศ พบว่าการห่อกล้วยไข่ด้วยฟิล์มพลาสติกพีวีซีทำให้มีปริมาณแก๊สออกซิเจนลดลง คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และมีการสะสมของแก๊สเอทธิลีน การใช้ฟิล์มพลาสติก Sun Wrap ในการห่อหวีกล้วยไข่ทำให้มีปริมาณแก๊สออกซิเจนภายในห่อฟิล์มพลาสติกลดลงเหลือ 3.26 เปอร์เซ็นต์ และมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 5.79 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 6 ของการทดลอง การใช้สารดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสารดูดซับเอทธิลีน ร่วมกับการใช้ฟิล์มพลาสติกพีวีซีมีผลในการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของบรรยากาศ แต่ไม่มีผลต่อการตกกระของกล้วยไข่ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของบรรยากาศโดยทำการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของแก๊สออกซิเจน พบว่าในสภาพบรรยากาศที่มีออกซิเจน 5 เปอร์เซ็นต์ กล้วยไข่ตกกระน้อยกว่าสภาพบรรยากาศที่มีแก๊สออกซิเจน 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ การเพิ่มความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 5 และ 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีผลในการยับยั้งการตกกระของกล้วยไข่ สภาพบรรยากาศที่มีแก๊สออกซิเจน 5 เปอร์เซ็นต์ และคาร์บอนไดออกไซด์ 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถควบคุมการตกกระของกล้วยไข่ได้ดีกว่าบรรยากาศที่มีเพียงแก๊สออกซิเจน 5 เปอร์เซ็นต์เพียงอย่างเดียว กล้วยไข่ที่เก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลงมีกิจกรรมของเอนไซม์ polyphenol oxidase และปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดในเปลือกกล้วยไข่เพิ่มสูงขึ้นกิจกรรมของเอนไซม์ phenylalanine ammonia lyase ลดลง สำหรับปริมาณกรด chlorogenic ไม่มีความสัมพันธ์กับการตกกระของกล้วยไข่