บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งตะไคร้โดยใช้พลังงานจาก Producer Gas

ศิริศักดิ์ ศิริสมบูรณ์

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2544. 94 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

การอบแห้งตะไคร้โดยใช้พลังงานจาก Producer Gas ในงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการอบแห้งตะไคร้โดยใช้พลังงานจากก๊าซชีวมวล (Producer Gas) ซึ่งศึกษาถึงสภาวะที่เหมาะสมในการผลิต Producer Gas และสภาวะที่เหมาะสมในการอบแห้งตะไคร้โดยที่จะนำเอาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิต Producer Gas มาเป็นเงื่อนไขในการหาสภาวะที่เหมาะสมในการอบแห้งตะไคร้ต่อไป ในงานวิจัยนี้ใช้ไม้ไผ่ข้าวหลามเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต Producer Gas เตาผลิตก๊าซเป็นแบบก๊าซไหลขึ้น (Up-Draft) Producer Gas ที่ผลิตได้นั้นประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และก๊าซมีเทน (CH4) เป็นส่วนมาก ในส่วนของการไหลของอากาศเข้าเตาผลิตก๊าซและในห้องอบแห้งเป็นแบบบังคับ โดยใช้พัดลมดูดอากาศขนาด 750 W ให้ความเร็วของอากาศเข้าตู้อบแห้งอยู่ที่ความเร็ว 0.225 m/s ตู้ที่ใช้อบแห้งมีขนาด 0.6 m3

ในการศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิต Producer Gas นั้น ทำการทดลองที่อัตราการไหลของอากาศเข้าเตาเผา 0.17x10-3, 1.48x10-3, 1.78x10-3 และ 2.25x10-3 m3/s พบว่าที่อัตราการไหลของอากาศเข้าเตาเผา 1.48x10-3 m3/s จะผลิตก๊าซ CO สูงที่สุดที่ 23% โดยค่าความร้อนของ Producer Gas ทั้งหมดประมาณ 3,111 kJ/m3 และการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการอบแห้ง โดยใช้เชื้อเพลิงไม้ไผ่ข้าวหลาม 45 kg ทำการอบตะไคร้น้ำหนัก 6 kg พบว่า สามารถลดความชื้นจาก 516%d.b. (84% w.b.) เหลือ 10% d.b. (9% w.b.) โดยใช้เวลาในการอบแห้ง 6 ชั่วโมง อุณหภูมิเฉลี่ยในการอบ แห้งอยู่ที่ 80 °C และเมื่อทำสอบคุณภาพสีของตะไคร้โดยเทียบกับมาตรฐานของ R.H.S. สีของตะไคร้ก่อนอบและหลังอบแห้งเปรียบเทียบโดยใช้สายตา สีของตะไคร้อยู่ในช่วง green-white และ greyed-yellow ตามลำดับ และการเปรียบเทียบคุณภาพสีของตะไคร้ที่ได้จากกระบวนการอบแห้งกับการทำแห้งโดยการผึ่งลมโดยไม่โดนแดดมีความชื้น 14% d.b. พบว่า สีของตะไคร้แห้งที่ได้ไม่แตกต่างกัน และคุณภาพสีของตะไคร้ไม่แตกต่างกันมาก เมื่อเทียบกับตะไคร้ตามท้องตลาด