บทคัดย่องานวิจัย

การจัดการข้าวเปลือกชื้น โดยการอบแห้งแบบฟลูอิไดเซชัน, การเก็บในที่อับอากาศ และการเป่าอากาศแวดล้อม

ณัฐพล ภูมิสะอาด

วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีอุณหภาพ) คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, กรุงเทพฯ. 2540. 83 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

การจัดการข้าวเปลือกโดยการอบแห้งแบบฟลูอิไดเซชัน การเก็บในที่อับอากาศ และการเป่าด้วยอากาศแวดล้อม  จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาแนวทางการลดความชื้นข้าวเปลือกให้เหลือ 16.5 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง โดยใช้กระบวนการอบแห้งด้วยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน การเก็บในที่อับอากาศ และการเป่าด้วยอากาศแวดล้อม โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ทั้งหมด และคุณภาพการสีของข้าวเปลือกภายหลังผ่านทั้งสามกระบวนการ

จากผลการทดลองพบว่า เมื่อผ่านทั้งสามกระบวนการสามารถลดความชื้นของข้าวเปลือกที่มีความชื้นเริ่มต้น 33 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง ลงได้จนถึงประมาณ 16.5 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 53 นาที เริ่มต้นจากการใช้เครื่องอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด 3 นาที จนได้ความชื้นเหลืองประมาณ 19.5 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง จากนั้นนำไปเก็บในที่อับอากาศ 30 นาที แล้วจึงนำไปผ่านการเป่าเย็นด้วยอากาศแวดล้อมด้วยความเร็วประมาณ 0.15 เมตรต่อวินาที (300ลูกบาศก์เมตร/นาที-ลูกบาศก์เมตรของข้าวเปลือก ที่ความสูงเบด 3 เซนติเมตร) เป็นเวลา 20 นาที คุณภาพการสีในด้านเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นและความขาวของข้าวสารอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ การเก็บข้าวเปลือกในที่อับอากาศในที่อับอากาศมีส่วนช่วยให้ปริมาณข้าวต้นเพิ่มขึ้นและลดความชื้นในช่วงการเป่าด้วยอากาศแวดล้อมได้มากขึ้น การเป่าอากาศแวดล้อมด้วยความเร็วต่ำสามารถลดความชื้นของข้าวเปลือกได้ดีกว่าการเป่าอากาศโดยใช้ความเร็วสูง