บทคัดย่องานวิจัย

เรื่องของยาตกค้างในเนื้อกุ้ง

สุปราณี ชินบุตร

วารสารการประมง : 55(3) ,หน้า 213-214

2545

บทคัดย่อ

เรื่องของยาตกค้างในเนื้อกุ้ง ช่วงเวลา 5-6 เดือนที่ผ่านมา คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำหรือธุรกิจสัตว์น้ำ คงจะไม่มีใครที่พลาดข่าวดังเรื่องยา หรือสารตกค้างในเนื้อกุ้งที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ หลายคนคงมีคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมถึงเพิ่งตรวจสอบ ในเมื่อการเลี้ยงกุ้งก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ กันมาตลอด และใช้กันอย่างมากด้วย (ดูได้จากจำนวนร้ายขายยาสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น) เรื่องของเรื่องก็คือ สินค้ากุ้งของเราเคยเจอปัญหานี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน โดยกุ้งที่ส่งไปขายญี่ปุ่นถูกส่งกลับ เพราะเขาตรวจเจอออกซิเททราไซคลีนในอัตราที่เขายอมให้มีตกค้างได้ ตั้งแต่ตอนนั้นกรมประมงก็ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาออกซิฯ และออกโซลินิคในกุ้งเป็นประจำมาโดยตลอด

ตั้งแต่นั้นมาเรื่องของยาตกค้างในเนื้อกุ้งก็ดูเหมือนจะเงียบไป และประเทศไทยก็ยังคงครองตำแหน่งที่หนึ่งในการส่งออกกุ้งมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 10 ปีติดต่อกับ และแล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีข่าวใหม่มาจากยุโรปว่า เขาตรวจสอบยาคลอแรมเฟนิคอลในเนื้อกุ้งจากประเทศจีน เวียตนาม และอินโดนีเชีย กรมประมงรู้ว่าตลอดสหภาพยุโรปจะต้องทำการตรวจหาสารตกค้างในเนื้อกุ้งมากขึ้น จึงได้มีการดำเนินการตรวจสอบกุ้งที่กำลังจะส่งออกเพื่อหาว่ามียาคลอแรมฯ ตกค้างหรือไม่ และสุ่มตัวอย่างยาที่มีการวางขายในตลาดมาตรวจ ก็ทราบว่ามียาปฏิชีวนะหลายยี่ห้อที่บนฉลากยาข้างกระป๋อง หรือถุง ไม่มีการระบุว่ามีส่วนผสมของคลอแรมฯ แต่มีตัวยานี้ปนอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะคลอแรมฯ เป็นยาที่มีการประกาศห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยสหภาพ
ยุโรปและอเมริกา

กรมประมงจึงได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องการมียาคลอแรมฯ วางขายอย่างเสรี แต่อย่างที่โบราณว่าไว้ “ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก”ขณะที่เรากำลังขะมักเขม้นแก้ปัญหาเรื่องคลอแรมฯ อยู่ก็มีรายงานจากเนเธอร์แลนด์ว่า เขาสุ่มตรวจตัวอย่างกุ้งแช่แข็งจากไทยแล้วพบว่ามียาไนโตรฟูแรนตกค้างอยู่ในหลายตัวอย่าง สินค้าชุดนั้นจะต้องถูกทำลายทันที เพราะไนโตรฟูแรนเป็นยาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในรายชื่อยาที่ห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารของคนเช่นกัน

กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรและการค้าต่างประเทศเดินทางไปหาข้อเท็จจริงและเจรจากับทางเนเธอร์แลนด์อย่างรีบด่วน ผลการเจรจาทำให้ทราบว่าทางเนเธอร์แลนด์ใช้เครื่องมือแบบใหม่ที่สามารถตรวจสอบยาตกค้างได้ในความเข้มข้นที่ต่ำมากๆ แม้ว่ายานั้นจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างไปแล้วก็ยังคงตรวจได้ ถึงแม้ว่าเขาจะตรวจวิธีไหนก็ตามและเจอยาในปริมาณที่น้อยมากๆ แต่เราก็ไม่มีข้อแก้ตัวหรือต่อรอง เพราะยาที่เขาตรวจพบเป็นยาที่ห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว วิธีการเจรจาจึงจำเป็นต้องใช้หลักการในการตรวจหารือกัน และยอมรับว่าเราตรวจด้วยเครื่องมือที่ต่างจากที่เขาใช้ทำให้เกิดความผิดพลาดอะไรทำนองนี้ ขณะนี้การเจรจาก็กำลังดำเนินการอยู่

ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันปัญหายาต้องห้ามตกค้างในเนื้อสัตว์น้ำของเราได้อย่างถาวร ก่อนอื่นคงต้องยอมรับความจริงว่า ในการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหนาแน่นมากๆ เพื่อหวังผลผลิตสูงสุดนั้น การเกิดโรคเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเกิดโรค ผู้เลี้ยงก็นึกถึงยาเพื่อรักษา ถ้าหากมีการใช้ยาอย่างถูกวิธีการตกค้างของยาต้องห้ามก็จะไม่เกิดขึ้น พออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่เกิดขึ้นว่าจะใช้ยาได้ถูกวิธีอย่างไร ต้องยอมรับว่าการตอบคำถามนี้ทางทฤษฎีไม่ยาก แต่วิธีปฏิบัติยากมาก

หนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่ายาอะไรบ้างที่เขาห้ามไม่ให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นอาหารมนุษย์ ใครบ้างควรจะรู้เรื่องนี้ คนที่มีหน้าที่ในการแนะนำเกษตรกรให้ใช้ยา คนขายยาและสารเคมีต้องรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และเมื่อรู้แล้วต้องไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้ และไม่ขายยาเหล่านี้ให้เกษตรกร

สอง ต้องรู้ว่าสัตว์น้ำตายมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะการตายของสัตว์น้ำอาจเกิดจากน้ำเสีย หรือเป็นโรคติดเชื้อก็ได้ และถ้าตายเพราะติดเชื้อโรคต้องรู้ว่าเชื้ออะไร ถ้าเป็นไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพราะไม่มียาที่รักษาโรคไวรัสได้ หากเป็นเชื้อแบคทีเรียในระยะแรกๆ การใช้ยาอาจได้ผล ถ้าใช้ยาถูกชนิดรวมทั้งมีความเข้มข้นและระยะเวลาการใช้ที่ถูกต้อง

ถ้าหากทำได้ตามนี้โอกาสที่จะเกิดปัญหายาตกค้างในเนื้อสัตว์น้ำแทบจะไม่เกิดขึ้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่มีหน้าที่แนะนำการใช้ยาไม่มีความรู้เรื่องยาที่ห้ามใช้ หรือถึงแม้จะมีความรู้แต่มีความโลภบังตา อยากขายยาได้มากๆ จึงทำการผสมยาต้องห้ามมาขาย เพราะอาจให้ผลในการรักษาดี ทำให้เกษตรกรพอใจและซื้อยาชนิดนั้นมาใช้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร คนขายยาอาจจะร่ำรวยในระยะเวลาสั้น แต่การทำเช่นนี้เป็นการทำลายธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเลือดเย็นที่สุด

แนวทางแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะสั้นคงต้องใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดการกับคนที่ทำผิดอย่างรีบด่วน ถ้าพบว่ามีการขายยาปลอมหรือยาที่ห้ามใช้ ต้องลงโทษเจ้าของร้านหรือผู้ผลิตทันที ให้ความรู้เกษตรกรถึงอันตรายของการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดยา เฝ้าระวังและตรวจสอบยาที่มีวางขายในตลาด ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้อง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบยาที่วางขายในตลาดอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีโครงการตรวจสอบยาตกค้างในเนื้อสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ ผลักดันให้มีการผลิตยาสำหรับสัตว์น้ำที่ถูกต้องเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น

ท้ายสุดก็คงเป็นเรื่องของจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการวางจำหน่ายยา จะต้องหยุดการขายยาที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะสำเร็จได้ถ้าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและจริงใจ และก็คงจะรักษาตัวเลขการส่งออกกุ้งของเราไว้ในระดับนี้หรือเพิ่มขึ้นได้ตามที่ต้องการ