บทคัดย่องานวิจัย

ลู่ทางการส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ

ลีนา พงษ์พฤกษา

รายงานผลการศึกษาวิจัย กองวิจัยสินค้าและการตลาด กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กรุงเทพฯ. 2521. 47 หน้า.

2521

บทคัดย่อ

รายงานผลการศึกษาวิจัยลู่ทางการส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ

1. ประเทศไทยส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ออกไปขายต่างประเทศได้สูงสุดใน พ.ศ. 2520 โดยมีมูลค่าประมาณ 168.92 ล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่มากนัก แต่ก็ได้เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2519 ประมาณ 92.02 ล้านบาท ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่ส่งออก ในพ.ศ. 2520 ได้แก่ เป็ดและไก่สดแช่เย็น ซึ่งส่งออกทั้งสิ้นมีมูลค่า 158.37 ล้านบาท นกกระจาบแช่เย็นมูลค่า 5.31 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นได้ส่งออกเป็นจำนวนไม่มากนัก เช่น เนื้อสุกรแช่เย็นประมาณ 590,000 บาทเป็นต้น

2. ประเทศที่สำคัญที่ซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากไทยได้แก่ ญี่ปุ่น โดยใน พ.ศ. 2520 ประเทศไทยได้ส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไปญี่ปุ่นทั้งสิ้น 162.98 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น รองลงไปคือ ไต้หวัน ซึ่งใน พ.ศ. 2520 นำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เข้าจากไทยเป็นมูลค่า 4.18 ล้านบาท ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยมีอยู่ไม่กี่อย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็ด ไก่ และนกกระจาบแช่เย็น

3. ตามปกติประชาชนญี่ปุ่นบริโภคเนื้อสัตว์รวมทั้งสิ้นปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน จึงกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ขาดแคลนเนื้อสัตว์และจำเป็นต้องนำเข้าต่อไป

4. การส่งผลิตภัณฑ์เนื้อโคและกระบือ ไปจำหน่ายต่างประเทศยังคงประสบกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ ทั้งที่เป็นอุปสรรคเกี่ยวกับระบบการผลิตและข้อจำกัดในตลาดแต่ละแห่ง ดังนี้

4.1 แม้ในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรคสัตว์สามารถควบคุมการระบาดของ

โรคสัตว์ได้ แต่ตลาดต่างประเทศก็ยังคงถือว่ามีการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นระยะ ๆ ในประเทศไทย จึงยังคงไม่อนุญาตให้มีการนำเนื้อสัตว์ประเภทโค กระบือ และสุกรเข้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยเฉพาะสิงคโปร์ได้ห้ามเข้ากระทั่งไก่สดแช่เย็นจากประเทศไทย

4.2 ประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศมีการจำกัดการนำเนื้อสัตว์เข้าจากต่างประเทศ

โดยกำหนดโควต้าสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการจำกัดตลาดอย่างหนึ่ง

4.3 เมื่อเปรียบเทียบในแง่คุณภาพแล้ว ราคาเนื้อโคภายในประเทศไทยยังค่อนข้าง

สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเนื้อของไทยยังมีอัตราส่วนของเนื้อในซากต่ำ ต้นทุนจึงสูง

5. การขยายตลาดเนื้อสัตว์ในต่างประเทศจำเป็นต้องกระทำผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อนำทางสำหรับผู้ส่งออกเอกชน เพราะการจำกัดการนำเนื้อสัตว์เข้า มักถูกควบคุมโดยกฎหมายในบางประเทศ เช่นสิงคโปร์ ผู้นำเข้าในสิงคโปร์อาจต้องการนำเข้าจากไทยเนื่องจากเสียค่าขนส่งต่ำกว่าซื้อจากยุโรป แต่ก็ถูกจำกัดด้วยกฎหมายว่าด้วยสัตว์ของสิงคโปร์ การแก้ไขจะทำได้โดยการเจรจาขอให้รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มชื่อประเทศไทยในบัญชีรายชื่อประเทศที่จะส่งสัตว์ไปขายได้ โดยบัญชีดังกล่าวนี้เป็นประกาศต่อท้าย The Animals and Birds Odinance (Ord. 3 of 165) จึงอาจแก้ไขได้ไม่ยาก