บทคัดย่องานวิจัย

ศักยภาพการผลิตและความต้องการของเกษตรกรในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทย ปีการผลิต 2543

เบญจพรรณ เอกะสิงห์ พฤกษ์ ยิบมันตะศิริ และกุศล ทองงาม

ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 หน้า

2544

บทคัดย่อ

ศักยภาพการผลิตและความต้องการของเกษตรกรในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทย ปีการผลิต 2543 การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาศักยภาพ ทางเลือก และความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดอนและพื้นที่ยากจนในเขตการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย โดยใช้วิธีการประเมินสภาวะชนบทแบบเร่งด่วน และการประเมินสภาวะชนบทอย่างมีส่วนร่วมศึกษาในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญของภาคเหนือตอน บน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รวม 8 จังหวัด เลือกพื้นที่ตัวอย่างจังหวัดละ 1 อำเภอๆ ละ 1 ตำบล ซึ่งเป็นอำเภอและตำบลที่ปลูกข้าวโพดที่สำคัญ รวมทั้งสิ้น 8 ตำบล ใน 8 อำเภอ ผลการศึกษาพบว่า การผลิตข้าวโพดในพื้นที่สูงและอยู่ห่างไกลมีข้อเสียเปรียบการผลิตบนพื้นที่ราบหลายอย่าง เช่น ต้องซื้อปัจจัยการผลิตในราคาแพง ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำกว่าไม่ได้รับหรือได้รับข่าวสารด้านวิชาการผ่านทางเกษตรตำบล/อำเภอ และ ธกส. น้อย เกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกพืชอื่นค่อนข้างน้อย มีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินค่อนข้างสูง ได้ผลผลิตต่ำกว่าการผลิตในพื้นที่ราบ ทำให้การปลูกข้าวโพดในพื้นที่เหล่านี้มีกำไรน้อย ส่วนในพื้นที่ราบต่ำ แม้ว่าเกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกพืชอื่นได้มากกว่า ได้ผลผลิตข้าวโพดดีกว่า และมีข้อได้เปรียบในเรื่องราคาผลผลิต และราคาปัจจัยการผลิต แต่ก็ยังพบว่าหลายพื้นที่ผลผลิตที่ได้ยังค่อนข้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยรวมแม้ว่ากำไรจากการผลิตข้าวโพดในหลายพื้นที่ยังไม่ดีนัก แต่ข้าวโพดก็ยังเป็นพืชหลักที่เกษตรกรเลือกที่จะปลูกต่อไป ดังนั้นในเชิงนโยบายจึงควรให้ความสนใจในการเพิ่มผลิตภาพของเกษตรกร เช่น อาจต้องมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร ควรมีการปรับปรุงการผลิตเพื่อเพมผลผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอีก ซึ่งแนวทางการปรับปรุงการผลิตอาจทำโดย 1) เลือกปลูกพันธุ์ข้าวโพดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศในแต่ละฤดูการปลูก หรือเลือกพันธุ์ที่ราคาถูกกว่าเพื่อประหยัดต้นทุน 2) ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์และค่าแรงงานในการถอนต้นข้าวโพดทิ้ง 3) แนะนำวิธีการใส่ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องแก่เกษตรกรให้ทั่วถึง 4) แนะนำส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ประสบปัญหาดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ 5) สาธิตวิธีการอนุรักษ์ดินอย่างจริงจังในพื้นที่ลาดชัน และ 6) ขยายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตำแก่เกษตรกรให้เพียงพอต่อการผลิต เพื่อลดปริมาณการกู้จากแหล่งภายนอกที่เสียดอกเบี้ยสูง