บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินความแข็งแรง การเจริญเติบโต และผลผลิตถั่วเหลืองจากเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเร่งอายุ

สุชาดา ยุติวงษ์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 54 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การประเมินความแข็งแรง การเจริญเติบโต และผลผลิตถั่วเหลืองจากเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเร่งอายุ การศึกษาการประเมินความแข็งแรง การเจริญเติบโต และผลผลิตถั่วเหลืองพันธุ์ OCB, CM 60 และ SK 1 จากเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเร่งอายุ (Accelerated aging test, AA Test) ที่ 40 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพันธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 18(T2), 36(T3), 54(T5) ชั่วโมง เปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่เก็บภายใต้อุณหภูมิห้อง 3 เดือน ดำเนินการศึกษาเป็น 2 การทดลองย่อย การทดลองที่ 1 เป็นการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง พบว่า ถั่วเหลืองที่ทุกระยะการเร่งอายุ และที่เก็บไว้ภายใต้อุณหภูมิห้อง มีเปอร์เซ็นต์ความงอกที่เพาะในห้องปฏิบัติการสูงกว่าในสภาพแปลง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเร่งอายุ 36 และ 54 ชั่วโมง จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกในสภาพแปลงเท่ากับผ่านการเก็บรักษามานานประมาณ 1 เดือน ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเร่งอายุ 72 ชั่วโมง พันธุ์ CM 60 และ SK 1 จะเท่ากับผ่านการเก็บรักษามานานประมาณ 2 เดือน หรือ 3 เดือนในพันธุ์ OCB ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ความงอกห้องปฏิบัติการของการเร่งอายุ 18, 36 และ 54 ชั่วโมง จะใกล้เคียงกับเมล็ดใหม่ ยกเว้นพันธุ์ OCB การเร่งอายุ 54 ชั่วโมง เท่ากับเก็บรักษามานานประมาณ 1 เดือน และการเร่งอายุ 72 ชั่วโมงจะเท่ากับผ่านการเก็บรักษามานานประมาณ 2-3 เดือน การทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของถั่วเหลืองที่ผ่านวิธีการเร่งอายุ พบว่า ระยะเวลาในการเร่งอายุเพิ่มขึ้นจะทำให้น้ำหนักแห้งของส่วนต่าง ๆ ทั้ง 3 พันธุ์ มีแนวโน้มลดลง โดยพันธุ์ OCB แสดงความแตกต่างระหว่างเมล็ดที่เก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เร่งอายุ 72 ชั่วโมง เกิดขึ้นที่ระยะ R5 และพันธุ์ CM 60 แสดงความแตกต่างของน้ำหนักแห้งใบมากที่สุด ส่วนอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งใบต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักต่อหนึ่งหน่วยเวลา (Mean Relative Growth Rate) ของทุกพันธุ์มีค่าลดลงกับอายุของพืชโดยแสดงความแตกต่างน้อยมาก และการเร่งอายุยังมีแนวโน้มทำให้จำนวนฝักต่อต้นหรือขนาดเมล็ดและผลผลิตลดลง ที่ระยะเวลาเร่งอายุ 72 ชั่วโมง โดยพันธุ์ OCB จะมีผลผลิตเปลี่ยนแปลง 12.37 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ CM 60 เปลี่ยนแปลง 16.82 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์ SK 1 มีผลผลิตเปลี่ยนแปลง 9.39 เปอร์เซ็นต์